การประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 3/2568 (ครั้งที่ 13)

31 Mar 2025

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานในการประชุมคณะพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2568 พร้อมด้วยคณะกรรมการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 13 แล้วตั้งแต่มีการเริ่มนโยบายซอฟต์พาวเวอร์


ก่อนเริ่มประชุมประธานในที่ประชุมได้กล่าวแสดงความเสียใจในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิตและสูญหาย รวมทั้งกล่าวแสดงความยินดีกับนายพิมล ศรีวิกรม์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ในโอกาสที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยอีกด้วย


โดยการประชุมครั้งนี้มีวาระการประชุมจำนวนมาก และมีการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของแต่ละอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ดังนี้






1. ความคืบหน้าอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ


คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ ได้รายงานความคืบหน้าในการจัดทำโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณปี 2567 - 2568 โดยมีรายละเอียดใน 5 โครงการ ได้แก่


(1) โครงการสนับสนุนนักออกแบบไทยสู่งานเทศกาลระดับโลกและการจัดเทศกาลงานออกแบบระดับชาติ
1.1 SLOW HAND & FRONT 100 : เทศกาลงานออกแบบมิลาน ระหว่างวันที่ 8-13 เมษายน 2568
1.2 FRONT 100 SHANGHAI : เทศกาลงานออกแบบเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน 2568
1.3 BORDERLESS PROJECT x CHANGE DESIGN : งาน Talk และเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการออกแบบ จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2568
1.4 THE WORLD ENDS - LONDON DESIGN BIENNALE : งานโรดโชว์ Design forum และนิทรรศการงานออกแบบไทยในประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 5-29 มิถุนายน 2568
1.5 THE WORLD ENDS - Makkasan Factory : การเสวนา นิทรรศการ การพูดคุยแลกเปลี่ยน และสร้าง Connection โดยใช้พื้นที่บริเวณโรงงานของการรถไฟมักกะสัน จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568


(2) โครงการจัดทำหลักสูตรยกระดับทักษะ OFOS ด้านการออกแบบ ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(3) โครงการ Creative Cultural District (CCD) เป็นการต่อยอดการพัฒนาย่านสร้างสรรค์อย่างน้อย 5 ย่าน ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
(4) โครงการการศึกษาความเป็นไปได้ด้านมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการออกแบบ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
(5) โครงการ FRONT 100 - การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์นักออกแบบแนวหน้าของประเทศไทย 100 คนเพื่อให้ต่างประเทศรับรู้ถึงศักยภาพนักออกแบบไทย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)


2. ความคืบหน้าอุตสาหกรรมด้านกีฬา 


คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา (มวยไทย) ได้รายงานผลการดำเนินงานและความคืบหน้าใน 2 โครงการได้แก่


(1) โครงการ Muay Thai for all ร่วมกับ คณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย
ซึ่งเป็นโครงการอบรมสอนมวยไทยขั้นพื้นฐานให้กับเยาวชนและนักเรียนทั่วประเทศ จำนวน 100,000 คน แบ่งเป็นรุ่นละ 25 วัน ซึ่งระหว่างวันที่ 1-25 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีการอบรมเยาวชนในรุ่นที่ 1 แล้ว จำนวน 10,740 คน ในค่ายมวยกว่า 600 ค่ายและสถานศึกษาทั่วประเทศ


(2) กิจกรรมเผยแพร่มวยไทยในงาน ITB Berlin 2025
กิจกรรมโรดโชว์มวยไทยในต่างประเทศ สอนมวยไทยให้ชาวต่างชาติ โปรโมทมวยไทยในสื่อต่างประเทศ และเปิดบูธเพื่อขายคอร์สเรียนมวยไทยเพื่อดึงชาวต่างชาติเข้ามา้รียนมวยไทยในประเทศ ระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2568 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 1,100 คน และมีผู้สนใจสมัครมาเรียนมวยไทยจำนวน 440 คน ซึ่งหากรวมค่าเรียน ค่าอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายตลอดการมาเรียนมวยไทยแล้ว คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 232 ล้านบาท


3. ความคืบหน้าอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชัน


คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชัน ได้รายงานผลการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุนสนับสนุนผ่านทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและทางเพจ THACCA-Thailand Creative Culture Agency ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 


โดยโครงการนี้ มีการให้การสนับสนุนใน 3 ทุน ได้แก่
(1) การสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชัน - โดยมีผู้ยื่นขอรับการสนับสนุน รวม 256 ราย
(2) การสนับสนุน Development Funding ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ (สร้าง IP) - โดยมีผู้ยื่นขอรับการสนับสนุน รวม 112 ราย
(3) การสนับสนุนทุนหนังสั้นเจาะตลาดโลก - โดยมีผู้ยื่นขอรับการสนับสนุน รวม 26 ราย


นอกจากนี้ ยังมีการรายงานความคืบหน้าในการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ (ฉบับใหม่) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและอนุกรรมการฯ โดยร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 และได้เข้าสู่กระบวนการตรวจข้อกฎหมายโดยคณะกรรมการสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อเตรียมนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป


4. ความคืบหน้าอุตสาหกรรมด้านศิลปะ


คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ ได้รายงานผลการดำเนินงานภายใต้งบประมาณปี 2567 ใน 2 ประเด็น ได้แก่


(1) รายงานผลการดำเนินโครงการสนับสนุนเสริมสร้างทักษะด้านศิลปะ (OFOS) งบประมาณปี 2567
มีการจัดกิจกรรมอบรมแล้วจำนวน 5 กิจกรรมใน 8 หลักสูตรทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมรวมจำนวน 4,939 คน สร้างสรรค์ผลงานศิลปะรวม 4,588 ผลงาน สร้างเครือข่าย 608 แห่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมแล้ว 10.35 ล้านบาท


(2) มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมศิลปะ
ภายใต้การทำงานร่วมกันกับกรมสรรพากรและกรมศุลกากร ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ออกประกาศ จัดตั้งเขตปลอดภาษีศิลปะ (ประเภทหอศิลป์) รวมถึงมาตรการทางภาษีอื่น เช่น การนำค่าใช้จ่ายในการซื้อผลงานศิลปะ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อได้ และการนำค่าใช้จ่ายในการสร้างผลงานศิลปะของศิลปะ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีศิลปินได้


5. ความคืบหน้าอุตสาหกรรมด้านหนังสือ


อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน 3 ประเด็น ได้แก่


(1) รายงานผลความคืบหน้างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ ระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม โดยมีบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจจำนวน 135 แห่ง จาก 14 ประเทศ/เขตปกครอง 40 โต๊ะเจรจา มีการจัดแสดงหนังสือภาพ มุมวาดเขียน กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจการเป็นรักเล่าเรื่องสำหรับเด็กในกิจกรรม Little Read รวมไปถึงมีการเชิญสำนักพิมพ์และตัวแทนลิขสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือเพื่อนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศในกิจกรรม Bangkok Rights Fair และมีการทำ MOU ร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ คือ TAICCA และ Taipei Book Fair Foundation 


นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Author’s Salon ซึ่งเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนพูดคุยโดยนักเขียนอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และงานนิทรรศการต่างๆ เช่น นิทรรศการโครงการแปลหนังสือไทย 15 เล่มที่ได้รับทุนการแปลเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ และนิทรรศการ Book Power ซึ่งเป็นนิทรรศการแนะนำหนังสือโดยประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านต่างๆ


(2) รายงานสถานการณ์ปัญหาหนังสือปลอมในประเทศไทย
ซึ่งปัญหาหนังสือปลอมที่กำลังระบาดในปัจจุบัน สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมหนังสือในภาพรวมอย่างมาก โดยอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ ได้มีการหารือร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาหนังสือปลอม รวมทั้งมีการส่ง ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) เข้าร่วมออกบูธในงานหนังสือฯ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนภายในงาน


(3) กิจกรรมเปิดตัวโครงการยกระดับทักษะ OFOS ด้านหนังสือ
ซึ่งจะมีการเปิดตัวใน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอบรมการแปลหนังสือ หลักสูตรอบรมด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา






6. ความคืบหน้าอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว


อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงานภายใต้ปีงบประมาณ 2567 - 2568 ประกอบด้วย 7 โครงการ ได้แก่


(1) โครงการ Soft Power Content Creation & Promotion ประจำปีงบประมาณ 2567
โครงการโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทยในต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น งาน AMAZING THAILAND NETWORKING DINNER กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กิจกรรมเผยแพร่ความเป็นไทยผ่านงาน THAI FESTIVAL ประเทศเบลเยียม งาน THAI SENSE EXCLUSIVE DINNER งาน VERY THAI CONCERT และงาน THAI SENSE WORKSHOP ณ นครเฉิงตู ประเทศจีน งาน 2024 VERY THAI DIANFENG MUSIC FESTIVAL ณ นครเฉิงตู ประเทศจีน กิจกรรม Workshop นำเสนอ “เสน่ห์ไทย” (Soft Power) THAI SENSE WORKSHOP ณ นครเฉิงตู ประเทศจีน งาน “FILM+FOOD EVENT IN ISTANBUL” นครอิสตันบูล ประเทศทูร์เคีย งาน IFTM TOP RESA 2024 ประเทศฝรั่งเศส และงาน TASTE OF THAI ประเทศเดนมาร์ก


(2) โครงการ Thailand’s Soul Local Creative Souvenir Development ประจำปีงบประมาณ 2567
เป็นกิจกรรม Workshop เพื่อระดมสมองหาแนวทางออกแบบกล่องของฝากที่ระลึก 10 เมืองน่าเที่ยว เช่น เพชรบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และอื่นๆ


(3) โครงการ Soft Power Content Creation & Promotion ประจำปีงบประมาณ 2568
เป็นกิจกรรมการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เนื้อหาเกี่ยวกับ Soft Power เผยแพร่ไปยังสื่อต่างประเทศทั้งในระบบออนไลน์ ออนแอร์ และออฟไลน์


(4) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว BE MY GUEST ประจำปีงบประมาณ 2568
เป็นกิจกรรมที่เชิญชวนผู้มีชื่อเสียงและ Influencer จากต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยและทำ Content เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆที่อาจไม่เป็นที่รับรู้มากนัก


(5) โครงการ จัดทำศูนย์รวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยว TOURISM DATA BANK ประจำปีงบประมาณ 2568
เป็นกิจกรรมระดมความเห็นและข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากภาครัฐและธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลให้เป็นระบบ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนการโปรโมตการท่องเที่ยวได้มีประสิทธิภาพ


(6) โครงการ พัฒนาการบริการและองค์ความรู้ด้านการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวไทย OFOS ประจำปีงบประมาณ 2567-2568
เป็นโครงการที่มุ่งยกระดับทักษะ (OFOS) ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งได้แบ่งการจัดโครงการออกเป็น 2 ปี คือ 
ปี 2567 : จัดทำหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวจำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการสร้างทูตสันถวไมตรีประจำพื้นที่ และ หลักสูตรการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ปี 2568 : จะมีการนำทั้ง 2 หลักสูตรไปจัดอบรมบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบุรี ระยอง ขอนแก่น และสงขลา


(7) โครงการ Soft Power Content Media Connect ประจำปีงบประมาณ 2568
เป็นโครงการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทยผ่านทางแพลตฟอร์ม TAT CONNEX ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีการจัดกิจกรรม TAT Media Connect ซึ่งจะมีการ Workshop ทักษะหัวข้อ “From Creator To Influence” และประกวด Influencer หน้าใหม่สำหรับการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย


7. ความคืบหน้าอุตสาหกรรมด้านอาหาร


อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย รุ่นที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยในรุ่นที่ 1 มีผู้ผ่านการอบรมแล้ว จำนวน 1,304 คน ซึ่งหลังจากผ่านการอบรม มีผู้ได้รับการฝึกงานและมีแผนที่จะไปทำงานยังร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จำนวน 35 คน และมีผู้ได้รับการประสานงานเพื่อเข้าทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 1,269 คน


8. ความคืบหน้าการจัดงานมหาสงกรานต์ World Water Festival 2025


อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล ได้รายงานความคืบหน้าการเตรียมงาน มหาสงกรานต์ World Water Festival 2025 ประกอบด้วยรายละเอียดเวทีการแสดง ณ ท้องสนามหลวง ตารางการแสดงและนักร้องนักแสดง ธีม เส้นทางขบวนและรายละเอียดของขบวนพาเหรดมหาสงกรานต์ กิจกรรมอื่นภายในพื้นที่จัดงาน เช่น สรงน้ำพระ ตลาด 4 ภาค และอื่นๆ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการเส้นทางการเดินทาง ระบบขนส่งมวลชน และการจัดการขยะ เพื่อการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และแนวทางการประชาสัมพันธ์ทั้งในสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์






4 ประเด็น ในวาระการพิจารณา


นอกจากรายงานความคืบหน้าแล้ว ยังมีวาระเพื่อการพิจารณาอย่างน้อย 4 หัวข้อ ดังนี้


(1) การพิจารณา (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยสำนักงาน ป.ย.ป.
(2) โครงการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Global Wellness Summit 2026
เสนอให้ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพต่อจากเมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2025) ซึ่งคาดว่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรง 368 ล้านบาท รัฐสามารถเก็บภาษีได้ 28.28 ล้านบาทเพิ่มมูลค่า GDP 418 ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 2,000 ตำแหน่ง
(3) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Creative Technology) 
(4) การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและแต่งตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติม
ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ ด้านกีฬา ด้านภาพยนตร์ฯ และด้านดนตรี


และได้มีการกำหนดการประชุมครั้งต่อไป คือ วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ






#committee