หน้าหลัก
โครงการ
ข่าวสาร
บทความ
กรรมการ
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อ
หน้าหลัก
โครงการ
ข่าวสาร
บทความ
กรรมการ
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อ
เตรียมจัดตั้ง "เขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์" สร้างไทยเป็นศูนย์กลางงานซื้อขายและจัดแสดงศิลปะนานาชาติแห่งใหม่
19 Mar 2025
การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะ “มาตรการจัดตั้งเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์” ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงและซื้อขายงานศิลปะนานาชาติที่สำคัญของเอเชีย
ประเทศไทย พร้อมเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงงานศิลปะนานาชาติแห่งเอเชีย
ภูมิภาคเอเชีย มีศูนย์กลางการจัดงานแสดงงานศิลปะนานาชาติที่สำคัญอยู่ 2 แห่ง คือ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลจากการหลั่งไหลเข้ามาจับจ่ายของนักประมูลและนักสะสมทั่วโลก แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นภายในประเทศเหล่านั้น ทำให้ผู้จัดงานแสดงงานศิลปะและนักสะสมผลงานศิลปะจำนวนมาก มองหาพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพเพื่อเป็น พื้นที่การจัดแสดงงานศิลปะนานาชาติแห่งใหม่
ประเทศไทย ถูกจับตามองในฐานะประเทศที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีจุดแข็ง คือ การท่องเที่ยวที่โดดเด่น มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะได้ก้าวขึ้นมาเป็น “ศูนย์กลางการจัดแสดงงานศิลปะนานาชาติแห่งเอเชีย”
“เขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์” คืออะไร
ที่ผ่านมา การนำเข้างานศิลปะจากต่างประเทศต้องเสียภาษี 10% (จากเพดานอัตราภาษี 60%) ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนามเสียภาษีที่ 7.5% อินโดนิเซีย 5% ส่วนมาเลเซียและฮ่องกงไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนั้น ผู้จัดงานแสดงศิลปะจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการนำเข้างานศิลปะเพื่อจัดแสดงอีกด้วย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้างานศิลปะเพื่อมาจัดแสดงและเพื่อการค้าในประเทศไทย
THACCA โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ และคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ร่วมกับ กรมศุลกากร ได้ยกร่างประกาศกรมศุลกากร เพื่อกำหนดเขตปลอดอากรประเภทใหม่ คือ “เขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์” โดยกำหนดให้พื้นที่หอศิลป์ที่ได้ใบอนุญาตจากกรมศุลกากร สามารถนำเข้างานศิลปะจากต่างประเทศเพื่อการจัดแสดงต่อสาธารณะ หรือเพื่อการจัดเก็บ บำรุงรักษา ซ่อมแซมงานศิลปะได้ แบบ “ไม่เสียภาษีนำเข้า”
โดยมีรายการของที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า 4 ประเภท ในพื้นที่เขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์ ได้แก่
##### ของที่ใช้ในการสร้าง ประกอบ หรือติดตั้งอาคารภายในเขตปลอดอากร
##### เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการประเภทหอศิลป์
##### ของที่นำเข้ามาตามวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการประเภทหอศิลป์ เช่น งานศิลปะ อุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ
##### ของที่ปล่อยออกมาจากเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์อื่น (สามารถโอนย้ายงานศิลปะจากเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์แห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งได้)
โดยหอศิลป์ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตปลอดอากร จะมีระยะปลอดภาษีเป็นเวลา 2 ปี และสามารถขอขยายระยะเวลาได้คราวละ 1 ปี นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้ต้องมีพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินไทยภายในหอศิลป์อีกด้วย ซึ่งกรมศุลกากรมีกำหนดที่จะประกาศใช้มาตรการจัดตั้งเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์ ภายในเดือนเมษายน 2568
ประเทศไทยจะได้อะไรจาก เขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์
ประกาศการจัดตั้ง เขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์ นอกจากจะเป็นการลดภาระทางภาษีของผู้นำเข้าผลงานศิลปะ ลดภาระการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันของผู้จัดแสดงงาน และเป็นการดึงดูดนักสะสม นักประมูลงานศิลปะจากทั่วโลกเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังก่อให้เกิดกิจกรรมอื่นตามมา เช่น จะเกิดการจัดแสดงงานศิลปะนานาชาติมากขึ้น งานศิลปะของศิลปินไทยจะถูกจัดแสดงภายในงานจัดแสดงศิลปะนานาชาติมากขึ้น เกิดกิจกรรมอื่น เช่น การบำรุงรักษา การซ่อมแซมงานศิลปะที่มากขึ้น เกิดการจ้างงานด้านศิลปะมากขึ้น เกิดการซื้อขายงานศิลปะมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ นักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงและเยี่ยมชมงานศิลปะนานาชาติได้ง่ายขึ้น อันเป็นสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปินหน้าใหม่ในวงการศิลปะอีกด้วย
เสริมด้วย 2 มาตรการทางภาษีสนับสนุนการซื้องานศิลปะ และสนับสนุนศิลปิน
นอกจากมาตรการจัดตั้งเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์แล้ว รัฐบาลยังได้เตรียมประกาศใช้อีก 2 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของวงการศิลปะ ได้แก่
(1) มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้องานศิลปะ
ให้บุคคลธรรมดาซื้องานศิลปะสาขาทัศนศิลป์ สามารถนำค่าซื้องานศิลปะมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีภาษีละ 100,000 บาท เพื่อจูงใจให้นักสะสม นักลงทุน และประชาชนทั่วไป ซื้อผลงานของศิลปินไทยมากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการผลิตงานศิลปะ และทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยเพิ่มขึ้นตามมา
(2) มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ
ให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะสามารถหักใช้ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้น จาก 30% เป็น 60% โดยไม่กำหนดประเภทศิลปิน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมให้ศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะมากขึ้น
โดย 2 มาตรการนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดและคาดว่าจะสามารถออกกฎกระทรวงและพระราชกฤษฎีการองรับมาตรการดังกล่าว ภายในไตรมาส 2 หรือเดือนมิถุนายน 2568
#committee #arts
ข้อตกลงและเงื่อนไข
นโยบายความเป็นส่วนตัว
สงวนลิขสิทธิ์สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)
สงวนลิขสิทธิ์
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)