ดวงฤทธิ์ บุนนาค ที่ปรึกษาอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ ได้เสนอแนวคิดด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมออกแบบ ผ่านมาตรการ “TETDC” โดยผนึกกำลังร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เร่งศึกษาความเป็นไปได้ให้เร็วที่สุด
มาตรการ TETDC คืออะไร
มาตรการ Tax Exemption for Thai Designer’s Client (TETDC) เป็นมาตรการทางภาษีที่ส่งเสริมให้เกิดการว่าจ้างนักออกไทย โดยมาตรการนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ว่าจ้างนักออกแบบไทยสามารถนำเอาตัวเลข “ค่าจ้างนักออกแบบ” ไปคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ ได้
โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ ได้ผลักดันให้เกิดการศึกษาวิจัย ภายใต้งบประมาณด้านซอฟพาวเวอร์ โดยมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เป็นหน่วยรับงบประมาณ และคาดว่าจะได้ผลการวิจัยภายในปีนี้
การวิจัยความเป็นไปได้ของมาตรการ TETDC ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อศึกษาหาสัดส่วนที่เหมาะสมของการลดหย่อนภาษี ว่าควรมีสัดส่วนเท่าใด จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดกับอุตสาหกรรมออกแบบไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถาปนิกและนักออกแบบไทย ในขณะเดียวกัน รัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นทดแทนกับมูลค่าภาษีเงินได้ที่ลดลงจากมาตรการ TETDC
นักออกแบบไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากมาตรการ TETDC
แม้ว่าผลประโยชน์ของมาตรการ TETDC นี้ ดูเหมือนตกอยู่ที่ “ผู้ว่าจ้าง” เพราะได้รับการลดหย่อนภาษีโดยตรง แต่แท้จริงแล้ว มาตรการนี้กลับสร้างผลประโยชน์ให้กับ “ผู้ถูกจ้าง” หรือ นักออกแบบและสถาปนิกชาวไทยมากกว่า เพราะประโยชน์สำคัญที่นักออกแบบไทยจะได้ คือ “การเพิ่มโอกาส และขีดความสามารถให้กับสถาปนิกและนักออกแบบไทยโดยตรง” เพื่อให้สามารถแข่งขันกับการเข้ามาของสถาปนิกต่างชาติในประเทศไทย
โดยปัจจุบัน สถาปนิกนักออกแบบไทยมักจะเสียโอกาส เนื่องจากสถาปนิกนักออกแบบชาวต่างชาติ สามารถเข้ามาทำงานแข่งกับสถาปนิกชาวไทยได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพียงขอใบอนุญาตทำงานออกแบบในไทย ผ่านการมีใบอนุญาตแบบนิติบุคคลหรือใบอนุญาตแบบสถาปนิกอาเซียน รวมถึงภาคีสถาปนิกพิเศษ ก็สามารถเข้ามารับงานแข่งขันกับสถาปนิกนักออกแบบไทยได้แล้ว
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมออกแบบในสาขาอื่นๆ ด้วย โดยที่ภาครัฐยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการใดที่จะปกป้องอุตสาหกรรมออกแบบในไทยและสนับสนุนให้สถาปนิกนักออกแบบชาวไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเพื่อแข่งกับสถาปนิกนักออกแบบชาวต่างชาติ
มาตรการ TETDC นี้ จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการว่าจ้างงานสถาปนิกนักออกแบบชาวไทยโดยตรงผ่านการลดหย่อนภาษี เพื่อสร้างโอกาสให้กับสถาปนิกนักออกแบบไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้น
ดึงเงินนอกเข้าสู่ระบบ - รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น - วิชาชีพแข็งแกร่งขึ้น
ในมุมของรัฐ จากเดิมการว่าจ้างสถาปนิกและนักออกแบบมักเกิดขึ้นนอกระบบภาษี ทำให้รัฐบาลไม่มีฐานข้อมูลทางภาษีที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งมาตรการ TETDC จะสร้างแรงจูงใจให้ทั้งเอกชนผู้ว่าจ้างและสถาปนิกนักออกแบบในฐานะผู้รับจ้าง นำการว่าจ้างดังกล่าวเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นเพื่อที่จะได้ลดหย่อนภาษีเงินได้ แต่สิ่งที่รัฐจะได้รับกลับมาทดแทน คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะเพิ่มขึ้นแทน
ในส่วนของสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่เข้าร่วมในโครงการเพื่อรับรองสถาปนิกและนักออกแบบ ก็จะมีโอกาสรับสมัครสถาปนิกและนักออกแบบเข้าสู่สมาคมมากขึ้น เพราะสถาปนิกและนักออกแบบส่วนมากที่อยู่นอกระบบสมาคม ก็จะหลั่งไหลกันมาสมัครสมาชิกเพื่อขอการรับรองจากสมาคมวิชาชีพต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับวิชาชีพด้านสถาปนิกนักออกแบบในภาพรวมอีกด้วย
ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ จากรับจ้างผลิต สู่การออกแบบแล้วผลิตเอง
ผลที่ได้ในระยะยาว คือ “การเปลี่ยนแปลงคุณภาพการผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ” ยกตัวอย่างโรงงานผลิตสินค้า จากเดิมที่เคยเป็นแค่โรงงานรับจ้างผลิต (OEM) หรือลอกเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์เพื่อผลิตออกมาจำหน่าย ก็จะมีแรงจูงใจที่จะจ้างนักออกแบบไทยเพื่อมาออกแบบสินค้าของตนเองมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตสินค้าไทย มีการขยายตัวและปรับโครงสร้างตัวเองออกจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การมีสินค้าหรือแบรนด์เป็นของตัวเอง ทำให้มีรายได้มากขึ้น
ในปัจจุบันการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยในส่วนของ OEM ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างและต่อเนื่อง หากเราปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิต ไปสู่การสร้างสินค้าเอง การออกแบบเอง และมีแบรนด์เป็นของตัวเอง จะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าไทยขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น มีกำไรมากยิ่งขึ้น และเติบโตได้อย่างยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่
