“...ประเทศไทยต้องพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คนไทยทุกคนต้องได้รับประโยชน์...”

“...ประเทศไทยต้องพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คนไทยทุกคนต้องได้รับประโยชน์...”

DATE 21 ส.ค. 2024
 

“…ประเทศไทยต้องพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คนไทยทุกคนต้องได้รับประโยชน์…”

เป็นประโยคที่ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ได้กล่าวบนเวทีระหว่างร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์” ซึ่งเป้าหมายของการผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ในฐานะเครื่องมือทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

ในงานสัมมนาประจำปี “STO Key Policy Driving Forum 2024: Soft Power, MICE & Transshipment” ซึ่งจัดโดยสำนักงาน ป.ย.ป. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567

🚩 ทำไมต้องส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์?

นพ.สุรพงษ์ อธิบายว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะหวังพึ่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เราจำเป็นต้องหาเครื่องยนต์ใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีเป้าหมาย คือ การพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางที่เราติดหล่มมาหลายสิบปี

โดยแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลจะเริ่มทำตั้งแต่

“ต้นน้ำ” คือ การพัฒนาคนและฝึกฝนทักษะในด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ยกระดับศักยภาพคนไทยครั้งใหญ่ ด้วยนโยบาย OFOS (One Family One Soft Power)

“กลางน้ำ” คือ การพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาระบบนิเวศของวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทั้ง 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์

“ปลายน้ำ” คือ การส่งออกเสน่ห์ของวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทยให้คนทั้งโลกหลงใหล

“…ประเทศไทยต้องพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คนไทยทุกคนต้องได้รับประโยชน์…”

นี่คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่เป็นเป้าหมายของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

🚩 บทบาทของภาครัฐจะส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้อย่างไร?

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ภาครัฐจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้ใน 4 แนวทางสำคัญ คือ

  1. การจัดสรรงบประมาณ

ภาครัฐควรพิจารณาเรื่องการทำแผนงบประมาณตามยุทธศาสตร์กันใหม่ทุกๆ ปี โดยไม่ยึดติดกับแผนงบประมาณในปีก่อนหน้า หรือที่เรียกว่า Zero Budgeting เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล รวมถึงคำนึงถึงการบูรณาการงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่มีเป้าหมายตัวชี้วัดร่วมกัน และการใช้งบประมาณว่าอย่างคุ้มค่า

  1. การปรับปรุงกฎหมาย

ภาครัฐต้องปรับปรุงตัวบทกฎหมายให้เป็นไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป โดยยกตัวอย่าง กฎหมายการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์โดยบุคลากรของภาครัฐ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า ในเมื่อปัจจุบันภาพยนตร์มีช่องทางอื่นๆ ให้นำเสนอมากกว่าช่องทางโรงภาพยนตร์และไม่ต้องผ่านการพิจารณาจัดเรตติ้ง ดังนั้นจึงควรปรับปรุงกฎหมายให้การจัดเรตติ้งเป็นการพิจารณาโดยตัวแทนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์กันเองหรือไม่

  1. การจัดตั้ง One Stop Service

ภาครัฐต้องมีกระบวนการที่เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ รัฐต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้คนและหน่วยงานในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ การมีหน่วยการแบบ One Stop Service นอกจากช่วยอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้เอกชนจากต่างประเทศกล้ามาลงทุนด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยด้วย

  1. การส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไปต่างประเทศ

เราจะไม่บริโภควัฒนธรรมสร้างสรรค์กันเองในประเทศเท่านั้น แต่เราจะต้องส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทย โดยฝีมือคนไทยไปต่างประเทศด้วย ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจัง เรามีเอกอัครราชทูตและทูตพาณิชย์ที่สามารถบุกเบิกตลาดต่างประเทศ เพื่อส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทย

“ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ไม่ติดในกรอบ อะไรที่เคยทำแล้วไม่ได้ผล ต้องกลับมาคิดกันใหม่เพื่อร่วมกันเดินหน้า อย่าคิดว่าเราทำเพื่อใคร เฉพาะคนกลุ่มใด หรือแค่รัฐบาลไหน ให้คิดว่าเรากำลังทำเพื่อประเทศไทยและคนไทย”

เป็นประโยคปิดท้ายของการบรรยายพิเศษที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้ฝากแง่คิดไว้ให้กับหน่วยงานภาครัฐ

Tags: ofos