“คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี” เสนอปรับปรุงกฎหมาย 4 ประเด็น พร้อมเสนอ 5 มาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อคนในวงการและอุตสาหกรรมดนตรีของไทย
🔏 ข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 4 ประเด็น
ยกร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เพื่อสร้างกลไกที่มีมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีองค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บและสร้างความไม่สะดวกให้กับศิลปิน ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในระหว่างดำเนินการยกร่างกฎหมาย โดยหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ
แก้ไขกฎหมายอำนวยความสะดวกในการใช้สถานที่ราชการในการจัดแสดงดนตรี พร้อมผ่อนปรนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีการจัดจำหน่ายและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่..) พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้ว
ยกเว้น Work Permit แก่ศิลปิน/นักดนตรีต่างประเทศ เทียบเคียงประเทศสิงคโปร์โดยใช้วิธีการแจ้ง (Notification) แทนการขอวีซ่าทำงาน
อำนวยความสะดวกและสนับสนุน VISA ขาออกให้กับศิลปินและนักดนตรีไทยที่จะไปแสดงในต่างประเทศ
📝 ข้อเสนอมาตรการสิทธิประโยชน์ 5 ประเด็น
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง ครอบคลุมทั้งดนตรี ภาพยนตร์ มีเดีย โทรทัศน์ และวิทยุ เช่น ปรับลดเพดานเงินลงทุนของมหกรรมดนตรีให้ต่ำกว่าที่ BOI กำหนดไว้ที่ 100 ล้านบาท, นําทรัพย์สินทางปัญญามาคํานวณเป็นเงินลงทุนได้, ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ระหว่างปี 1-10, ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 สําหรับปีที่ 11-15, ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องดนตรี เครื่องเสียง และอุปกรณ์สําหรับการแสดง เป็นต้น
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 เท่า ของเงินสนับสนุนการแสดงคอนเสิร์ต เพื่อกระตุ้นให้มีการจัดงานดนตรีมากขึ้น
บุคคลในกลุ่มอาชีพสายงานดนตรี สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตาม ม.40 (😎 ได้ร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายจริง
ยกเว้นหรือปรับลดอัตราภาษีแก่บริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสมาชิก เพื่อให้เหลือองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จำนวนน้อยที่สุด และมีลักษณะดำเนินงานแบบไม่แสวงหากำไรอย่างแท้จริง
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ 2 เท่า ของเงินค่าจ้างเพื่อส่งเสริมการจ้างศิลปินและนักดนตรีไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนหรือสร้างโอกาสให้กับศิลปินให้ได้รับการจ้างงานมากขึ้น
ข้อเสนอเหล่านี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งจะสร้างโอกาสและรายได้ให้คนในอุตสาหกรรม กลายเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยสู่การเป็นประเทศรายได้สูงนั่นเอง
Tags: music