หลังเข้าสู่ “สองทศวรรษที่สูญหาย” (The Lost Two Decades) จากวิกฤตฟองสบู่แตกในยุค 90s ทำให้เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นถดถอยอย่างหนัก รัฐบาลญี่ปุ่นได้เล็งเห็นโอกาสในการใช้ “สินค้าวัฒนธรรมร่วมสมัย” อย่างมังงะ อนิเมะ เกมส์ เพลง กีฬา ฯลฯ เป็น “สินทรัพย์” ในการสร้างรายได้ใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้มีพลังดึงดูดผู้คนทั่วโลกด้วย “ความคูล” แบบญี่ปุ่น
ปี 2012 รัฐบาล ‘ชินโซ อาเบะ’ จึงผลักดัน “Cool Japan” อย่างจริงจัง โดยตั้ง “รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ Cool Japan” (Minister in Charge of Cool Japan Strategy) ขึ้นเป็นเจ้าภาพเบ็ดเสร็จ ประสานงานหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ให้มาทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ
นโยบายนี้ถูกขับเคลื่อนผ่าน 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1. Upskill/Reskill ให้กับนักสร้างสรรค์ญี่ปุ่นอย่างรอบด้าน
โดยรวบรวมนักสร้างสรรค์ทุกแขนงมารวมตัวกันเป็นสมาคมองค์กรต่างๆ สนับสนุนให้มีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน รวมถึงออกแบบหลักสูตรอบรมทั้งระยะสั้นและระยะยาวในด้านต่างๆ เช่น การจัดการท่องเที่ยวในท้องถิ่น การทำอาหาร การสร้างแบรนด์สินค้าท้องถิ่น การตลาด หรือการบริหารธุรกิจชุมชน
เพื่อให้นักสร้างสรรค์มีความรู้ด้านธุรกิจ รวมทั้งยังจับคู่ระหว่างสถานศึกษากับเอกชนเพื่อทำหลักสูตรเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจของนักสร้างสรรค์
2. สร้างกระแสนิยมในคอนเทนต์ของญี่ปุ่น
ทั้งจัดงานเทศกาล เช่น เทศกาลเนื้อหาญี่ปุ่นนานาชาติ หรือ JAPAN International Content Festival (Co-Festa) เพื่อเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นไปยังประเทศต่างๆ และเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง Cool Japan ผ่านสถานทูตญี่ปุ่นในแต่ละประเทศทั่วโลก
สนับสนุนเงินทุนให้ปรับคอนเทนต์ญี่ปุ่นให้สามารถออกอากาศในต่างประเทศได้ผ่านโครงการ Japan Contents Localization and Promotion (J-LOP) ทำรายการโทรทัศน์เสนอความเป็นญี่ปุ่นผ่านช่องโทรทัศน์ท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังเชิญบรรดาเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์ต่างชาติมาร่วมงานจัดแสดงสินค้าและบริการของญี่ปุ่น เพื่อทำคอนเทนต์ประชาสัมพันธ์ Cool Japan ผ่านช่องทางของตัวเอง
3. สนับสนุนการบุกตลาดโลก
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าไปเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวก ด้วยการทำข้อมูลสำรวจตลาด ศึกษากฎระเบียบการค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศเป้าหมาย
มีการจัดงาน Cool Japan World Trial เพื่อพานักธุรกิจญี่ปุ่นไปเจรจาธุรกิจกับบริษัทในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเข้าไปช่วยลดอุปสรรคด้านการค้า ด้วยการเจรจากับประเทศคู่ค้าเรื่องกำแพงภาษีและการอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งออกได้มากขึ้น
พร้อมกับดำเนินการทูตเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ญี่ปุ่น ให้ทั่วโลกเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สร้างสรรค์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีว่าสินค้าและบริการที่มาจากญี่ปุ่นนั้นมีคุณภาพสูงและมีความเจ๋งตามสไตล์ญี่ปุ่น ทำให้สินค้าและบริการจากญี่ปุ่นได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
รวมไปถึงการทำโครงการสนับสนุนให้เปิดร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ เพื่อส่งออกวัตถุดิบหายากและเอาสาเกญี่ปุ่นไปตีตลาดต่างประเทศด้วย ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุนและอำนวยความสะดวกเรื่องกฎระเบียบระหว่างประเทศ
4. ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มาสัมผัส ‘ความคูล’
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงผู้คนทั่วโลกให้มาใช้จ่ายในญี่ปุ่น ผ่านการจัดงาน Tourism Festival และทำโครงการ Visit Japan โดยองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) จะไปจัดงานประชาสัมพันธ์ตามประเทศต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาญี่ปุ่นให้มากขึ้น รวมไปถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสามารถเข้ามาเที่ยวที่ญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า
ไม่เพียงแต่ 4 ข้อนี้เท่านั้น แต่ญี่ปุ่นยังมีการตั้งกองทุน “Cool Japan Fund” โดยร่วมทุนกับเอกชนกว่า 17,400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินรัฐบาล 13,900 ล้านบาท และเงินเอกชน 3,500 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนสำหรับโครงการที่เอกชนไม่กล้าลงทุนเพราะมีความเสี่ยงสูง แต่รัฐบาลเชื่อว่ามีศักยภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มคอนเทนต์ อาหาร และไลฟ์สไตล์ เป็นต้น
• Cool Japan ประสบความสำเร็จแค่ไหน?
กว่า 10 ปีที่นโยบาย Cool Japan ได้เริ่มต้นขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันได้สร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เติบโตถึง 9 เท่า แต่น่าเสียดายที่การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์กลับไม่ได้เติบโตตามที่คาดการณ์ ส่วนหนึ่งเพราะ ‘ความคูล’ ของญี่ปุ่นในยุคนี้ ไม่สามารถที่จะสู้กับ ‘ความร้อนแรง’ ของเกาหลีใต้ได้
แต่ถึงอย่างนั้น ซอฟต์พาวเวอร์ญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมามีที่ยืนในตลาดโลกมากขึ้น หลังเงียบหายไปนานกว่าทศวรรษ
อ่านมาถึงตรงนี้ เราพอจะสรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “Cool Japan” ประสบความสำเร็จ คือ การมีเจ้าภาพและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างไร้รอยต่อ รวมไปถึงการดึงเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและมีกองทุนที่สนับสนุนคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างจริงจัง และสิ่งสำคัญสุดคือ “ความต่อเนื่อง” ที่ทำให้นโยบายนี้ดำเนินไปได้นานกว่า 10 ปี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม เพราะถือว่า “Cool Japan” ไม่ใช่แค่นโยบายของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่เป็น “นโยบายหลักของประเทศญี่ปุ่น”
Tags: knowledge