จาก OTOP สู่ ThaiWORKS ปลดล็อคภูมิปัญญา เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ

5 Jul 2025

ในปี 2544 เกิดปรากฎการณ์ระเบิดศักยภาพครั้งใหญ่ของคนไทยทุกตำบลทั่วประเทศ จากโครงการ OTOP จนหลายคนแทบไม่อยากจะเชื่อว่า กล้วยฉาบที่คุณย่าทำให้กินในวัยเด็ก หรือ งานไม้ที่คุณปู่ทำเป็นงานอดิเรก จะกลายเป็น ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มี “คุณค่า”และสร้าง “มูลค่า” จนสามารถสร้างเนื้อ สร้างตัว พลิกฟื้นชีวิต สร้างเศรษฐกิจของชุมชนให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดปีละหลักพันล้านบาท  


โอท็อป (OTOP) หรือ โครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” จึงไม่ใช่เพียงแค่การผลิตสินค้าประจำชุมชน หากแต่เป็นการปลุกฝีมือคนไทยที่แฝงเร้นอยู่ในกิจวัตรประจำวัน ให้กลายเป็นศักยภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย “ฝีมือของตัวเอง”


เวลาผ่านมาแล้ว 22 ปี โครงการ OTOP ได้ผ่านยุครุ่งเรืองและร่วงโรย ผ่านทั้งยุคที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐและยุคที่ถูกเมินเฉยด้วยเหตุผลทางการเมือง จนหลายคนอาจครหาว่า “OTOP ก็ได้แค่นี้แหล่ะ”


ท่ามกลางผู้คนที่มองเห็นแต่ “ข้อจำกัด” กลับมีผู้นำคนหนึ่งที่มองเห็น “โอกาส” ที่จะยกระดับและปลุกศักยภาพ OTOP ให้กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ผู้นำที่ผู้ปลุกปั้น OTOP ยุคแรกเริ่ม ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้นำคนนั้น ชื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร


ในช่วงเวลาที่ “อยู่ไกลบ้าน” ดร.ทักษิณ ได้ปรึกษาพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย นำไปสู่การใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว เพื่อศึกษาค้นคว้า วิจัยและวางวิสัยทัศน์ในการยกระดับ OTOP ครั้งใหญ่ ให้ไปได้ไกลกว่าที่เคยเป็น ภายใต้แนวคิด “Local Content, Global Design”


และนั่น นำมาสู่ “โครงการ ThaiWORKS”


[ ThaiWORKS คืออะไร? ]


โครงการ Thai WORKS คือ โครงการศึกษาวิจัย ที่เข้าไปค้นคว้าและแปลความหมายใหม่จากองค์ความรู้ มรดกทางภูมิปัญญา วิถีชีวิต และเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนทั่วประเทศไทย โดยถอดเอา “ปรัชญาแห่งวิถีชีวิต” ซึ่งเป็นแก่นแท้ของวิธีคิดทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน มาผสมเข้ากับ “ศิลปะแห่งการออกแบบสมัยใหม่” เพื่อสร้างสรรค์ผลงานหรือผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนเอกลักษณ์คุณค่าความงามและภูมิปัญญา ผ่านการออกแบบรูปทรงที่ทันสมัยและใช้งานได้จริง


คณะผู้วิจัยโครงการ ThaiWORKS เริ่มต้นการศึกษาเพื่อยกระดับศักยภาพ OTOP ด้วยคำถามที่เรียบง่ายว่า 

“อะไร คือ ภูมิปัญญาของไทย?”


คณะผู้วิจัยจึงได้กระจายตัวลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ประกอบการของแต่ละชุมชนเพื่อหาคำตอบผ่านการสังเกตวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และมุมมองของผู้คนในชุมชนทั่วประเทศ จนได้รับคำตอบที่ตรงกันว่า…


“ภูมิปัญญา คือ ผลผลิตของวิถีชีวิตและสินทรัพย์ของคนไทย”


ภูมิปัญญา เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปั้นดินเผา งานไม้ งานสลัก งานปัก งานทอ เครื่องหนัง การปลูกเรือนสร้างบ้าน การถนอมอาหาร และอื่นๆ ก็เกิดขึ้นจาก “ความต้องการในชีวิตประจำวัน” เพื่ออยู่ กิน นอน ใช้สอยต่างๆ


หรือแม้กระทั่ง “ความเชื่อประเพณี” เช่น แห่นางแมว ปักตะไคร้ บุญบั้งไฟ ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เผชิญในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น ฝนตก-ฝนไม่ตก ทำนาได้ผลผลิตดี-ไม่ดี เป็นต้น


บรรพบุรุษเราใช้วิธีสังเกตธรรมชาติ ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ และถอดคุณลักษณะบางอย่างของธรรมชาติ ผสานเข้ากับ จินตนาการที่ชาญฉลาด เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิต จึงก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาในด้านต่างๆ


ดังนั้น ภูมิปัญญาไทย จึงเกิดจาก วิถีชีวิตที่แสนเรียบง่าย กิจวัตรประจำวันทั่วไปหรือมาจากความจำเป็นในการดำรงชีพ ไม่ใช่มาจากความฟุ่มเฟือยหรือฟุ้งเฟ้อ จึงทำให้ ภูมิปัญญาไทย ที่สะท้อนผ่านงานหัตถศิลป์ (Thai Craft) มีลักษณะเฉพาะตัวที่ “Minimal” (เรียบง่าย) และ “Functional” (ใช้งานได้จริง) ผสานเข้ากันอย่างลงตัว ลุ่มลึก และทรงพลัง


[ แปลงศักยภาพของภูมิปัญญา สู่การสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ ]


Thai WORKS จึงได้กระเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มและถอดเอาแก่นอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะของภูมิปัญญาไทย นั่นก็คือ “ความเรียบง่ายที่แท้จริง” (Authentic Minimalism) โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละชุมชน มาผสานเข้ากับนวัตกรรมการออกแบบที่ทันสมัย เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงานผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชนใหม่สู่สายตาชาวโลก เช่น


แก้วน้ำ ที่ถอดการออกแบบมาจาก ภูมิปัญญาในการก่อเจดีย์

ลายผ้า ที่ถอดลวดลายมาจาก เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง

เชิงเทียน ที่ถอดรูปร่างมาจาก ส่วนเว้าส่วนโค้งของงานปั้นดินเผา

กาน้ำร้อน ที่ถอดสัญลักษณ์มาจาก ความงามที่ทรงพลังของงวงช้าง


ผลงานเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลงานนับร้อยชิ้น ที่ Thai WORKS ได้ออกแบบขึ้นมาจากแนวคิดดังกล่าว โดยผลงานการออกแบบเหล่านี้ จะถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น “สินทรัพย์ทางปัญญา” (Intellectual Assets) และ ThaiWORKS จะนำเสนอและแบ่งปันสิ่งนี้ให้กับชุมชนแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการ “ผลิต - ดัดแปลง - ต่อยอด” ให้กลายเป็น ผลิตภัณฑ์ OTOP สมัยใหม่ ที่ยังคงไว้ซึ่ง “มรดกทางวัฒนธรรม” ผสานเข้ากับ “นวัตกรรมการออกแบบ” ที่ทั่วโลกต้องการ


[ พบกับผลงานทั้งหมดของ ThaiWORKS ได้ที่งาน SPLASH ]


แนวคิด วิสัยทัศน์ ปรัชญา และผลงานการออกแบบของ Thai WORKS ทั้งหมดจะถูกนำมาจัดแสดงนิทรรศการภายใน “ThaiWORKS Pavilion” งาน SPLASH - Soft Power Forum 2025 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2568 นี้


เยี่ยมชมความชาญฉลาดของ “ภูมิปัญญาไทย” ที่ทันสมัยและอยู่เหนือกาลเวลา

สัมผัสนวัตกรรมการออกแบบสมัยใหม่ ที่ยังคงรักษามรดกทางวัฒนธรรมไว้อย่างครบถ้วน

ร่วมปลดล็อกภูมิปัญญา ส่งเสริมศักยภาพ เปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่เพื่อคนไทย

ThaiWORKS Pavilion รอคุณอยู่…แล้วเจอกัน

Tags : splash #people #knowledge