เปิดร่าง พระราชบัญญัติภาพยนตร์ ฉบับใหม่ เวอร์ชั่นไฉไลกว่าเดิม

28 Mar 2025

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชัน และเครือข่ายภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน ตกผลึกจนนำไปสู่ “ร่าง พรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่” ที่ผ่านการยอมรับร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน และเมื่อวันอังคารที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ “เห็นชอบ” และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาต่อไป


วันนี้ THACCA-Thailand Creative Culture Agency เลยมาสรุปร่างพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ให้ทุกคนได้อ่านถึง “9 จุดเด่น” ของร่างพรบ.ฉบับนี้กัน


1. แยก “ภาพยนตร์” ออกจาก “เกม”


เดิมทีใน พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จะครอบคลุมถึงกิจการเกมเข้าไปด้วยในฐานะ “วีดิทัศน์” แต่ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเกมมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่แตกต่างไปจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จึงให้มีการแยกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “ภาพยนตร์” และ “เกม” ออกจากกัน และให้มีการยกร่าง “พระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม” โดยกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อเป็นกฎหมายสำหรับเกมโดยเฉพาะ


2. รื้อบอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติ


ยกเลิกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ หรือ “บอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติเดิม” และแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ หรือ “บอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติใหม่” ขึ้นมาแทน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนแทนการควบคุม


ลดจำนวนกรรมการในบอร์ดจากเดิมมี 27 คน (การเมือง 3 คน ข้าราชการ/รัฐ 13 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน) เหลือจำนวน 24 คน โดยมีสัดส่วนกรรมการจากภาคเอกชนมากกว่ากรรมการภาครัฐ (การเมือง 3 คน ข้าราชการ/รัฐ 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน) ด้วยการตัดกรรมการที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนกระทรวงกลาโหม ออกจากการเป็นกรรมการ


กำหนดให้มี “ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย” เป็นกรรมการในบอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติ เพื่อให้ “ตัวแทนเอกชนตัวจริง” ได้เข้าไปมีบทบาท เป็นกระบอกเสียงและร่วมกำหนดนโยบายร่วมกับภาครัฐโดยตรง


3. จัดตั้ง สภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย


กำหนดให้เอกชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์รวมตัวกันเป็นสภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เอกชนกำกับดูแลกันเอง ทำหน้าที่รวบรวมปัญหา เสนอแนะมาตรการ และเป็นตัวแทนเอกชนทั้งหมดในบอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติในการร่วมกำหนดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งระบบ


4. เอกชน “จัดเรตเองได้” ไม่ต้องส่งให้บอร์ดเซนเซอร์มาจัดให้


จากเดิม ภาพยนตร์ทุกเรื่องจะต้องถูกส่งไปให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดเซนเซอร์) ตรวจพิจารณาและจัดเรตก่อนนำไปฉาย แต่ในร่างใหม่ ได้มีการ “ยกเลิกระบบการจัดเรตโดยรัฐ” เปลี่ยนเป็นระบบที่รัฐและเอกชนร่วมกันกำหนดกรอบมาตรฐานเรตภาพยนตร์ แล้วให้ “เอกชนจัดเรตด้วยการรับรองตนเอง” (Seft-regulate rating system) เพื่อผ่อนคลายการควบคุม เปิดกว้างเสรีภาพให้คนทำหนัง และส่งเสริมให้เอกชนรับผิดชอบดูแลตนเอง 


5. เอา “มาตรฐานการจัดเรตต่างประเทศ” มาใช้ได้


นอกจากมาตรฐานเรตที่รัฐและเอกชนร่วมกับกำหนดให้เหมาะสมแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนทำหนังและผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์สามารถนำเอามาตรฐานการจัดเรตของหน่วยงานต่างประเทศ มาใช้ในการจัดเรตภาพยนตร์ของตัวเองได้ ซึ่งเป็นการเปิดให้การจัดเรตภาพยนตร์ในไทยมีมาตรฐานและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น


6. ยุบบอร์ดเซนเซอร์ - เลิกควบคุม เปลี่ยนเป็นกำกับดูแล


ยกเลิกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (บอร์ดเซนเซอร์) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม จัดเรตให้กับภาพยนตร์ต่างๆ เนื่องจากเราเปลี่ยนมาใช้ระบบเอกชนจัดเรตด้วยการรับรองตนเองแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีบอร์ดเซนเซอร์อีกต่อไป 


ตั้ง “คณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลการจัดระดับความเหมาะสมภาพยนตร์” ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลให้เอกชนที่รับรองตนเองจัดเรตด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม


7. เลิกใบอนุญาตโรงภาพยนตร์ เปลี่ยนเป็นระบบจดแจ้ง


ที่ผ่านมา การขอประกอบกิจการโรงภาพยนตร์หรือจำหน่ายภาพยนตร์ จะต้องขออนุญาต 2 รอบ คือ ขออนุญาตจากนายทะเบียน และขออนุญาตจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างยิบย่อยจนเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก 


ร่างพรบ.ฉบับใหม่จึงยกเลิกการขอใบอนุญาตและให้การขอประกอบกิจการโรงภาพยนตร์และจำหน่ายภาพยนตร์ ใช้วิธีการ “จดแจ้ง” แทน ซึ่งเป็นการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการเปิดโรงภาพยนตร์มากขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจการโรงภาพยนตร์ในประเทศ


8. ค่าธรรมเนียม ค่าปรับพินัย เป็นธรรม 


ที่ผ่านมา การกำหนดค่าธรรมเนียมมักจะเป็นลักษณะอัตราเดียวกันทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเสียเปรียบผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีทุนสูงกว่า เช่นเดียวกับค่าปรับที่ไม่มีความยืดหยุ่นตามความรุนแรงเหมาะสมของข้อกล่าวหา


ร่างพรบ.ฉบับใหม่จึงได้มีการกำหนดไว้ว่า การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม การลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียม อาจกำหนดให้แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงขนาด การสร้างโอกาส และความเสมอภาคในการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และกำหนดให้มีการปรับเป็นพินัย เพื่อให้โทษปรับมีอัตราลดหลั่นกันไปตามขนาดและความรุนแรงของการกระทำผิด ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์มากขึ้น


9. รัฐ-เอกชน ร่วมกันทำนโยบายส่งเสริมภาพยนตร์ 5 ด้าน


กำหนดให้รัฐและเอกชนร่วมกันจัดทำ “นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์” ระยะ 5 ปี ครอบคลุมอย่างน้อย 5 ด้าน ตั้งแต่การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยข้อมูลและเทคโนโลยีด้านภาพยนตร์ การยกระดับทักษะความรู้บุคลากรภาพยนตร์ การกำหนดสิทธิประโยชน์ทั้งแบบที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี การสนับสนุนผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ และการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ


อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จะได้อะไรจาก พรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่


เอกชนเข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองกับภาครัฐมากขึ้น - ผ่านการมีตัวแทนในบอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติ และมีสภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นของตนเอง ให้เอกชนดูแลกันเอง


นโยบายด้านภาพยนตร์จะตอบสนองอุตสาหกรรมากขึ้น - ผ่านการให้เอกชนเข้าไปมีบทบาทในการร่วมกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรม


เสรีภาพคนทำหนังผลิบาน การจัดเรตเป็นสากล - ผ่านการใช้ระบบจัดเรตด้วยตนเอง (Seft-regulate) โดยสามารถใช้มาตรฐานเรตของต่างประเทศได้ ยุบบอร์ดเซนเซอร์ เลิกมาตรการควบคุมเสรีภาพคนทำหนัง


สนับสนุนรายย่อย โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กเปิดกิจการได้ง่ายขึ้น - ผ่านการยกเลิกระบบขออนุญาต เปลี่ยนเป็นระบบจดแจ้งแทน เพื่อทลายข้อจำกัด รวมถึงปรับปรุงค่าธรรมเนียมและค่าปรับเป็นพินัยให้เป็นธรรม คำนึงถึงขนาด โอกาส และความเสมอภาคอีกด้วย


ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งภายในร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ ซึ่งหลังจากนี้ จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณารายละเอียดในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป





Tags : film