สรุปผลงานการอบรม OFOS ด้านอาหาร ปี 2567

14 Mar 2025

THACCA-Thailand Creative Culture Agency โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้การนำของ เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร หน่วยงานพันธมิตร และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จัดอบรม Upskill-Reskill ทักษะด้านอาหารตามนโยบาย “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS)” แล้วกว่า 1,792 คนทั่วประเทศ 


โดยปี 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการอบรมใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย และ โครงการร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย


โครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” : อัพสกิลตัวแทนหมู่บ้าน สู่เชฟมืออาชีพ


โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย มีการตั้งเป้าว่าจะอบรมเพื่อยกระดับทักษะด้านการประกอบอาหารให้กับตัวแทนจากทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ จำนวน 75,086 คน จาก 75,086 หมู่บ้าน ซึ่งโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรพัฒนาผู้ฝึกสอนการทำอาหารไทย และหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพ


(1) หลักสูตรพัฒนาผู้ฝึกสอนการทำอาหารไทย (Train the Trainers)


เป็นหลักสูตรสำหรับอบรมครูหรือผู้ฝึกสอนด้านการทำอาหารจากมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศ เพื่อยกระดับทักษะการสอน การใช้สื่อ และเทคนิคการถ่ายทอดทักษะการทำอาหารให้แก่ประชาชนทั่วไป


โดยในปี 2567 ได้มีการจัดอบรมผู้ฝึกสอนการทำอาหารไทยไปแล้ว 5 รุ่น รวมมีผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 325 คน จาก 106 สถาบันการศึกษา ซึ่งทั้ง 325 คนนี้จะมาเป็นผู้ฝึกสอนในหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพต่อไป


(2) หลักสูตร เชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program)


เป็นหลักสูตรสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจอยากเรียนรู้การทำอาหารเพื่อไปประกอบอาชีพ โดยผู้ที่เข้าร่วมการอบรมจะต้องเข้าเรียนคอร์สสอนออนไลน์ 20 วิชา กว่า 375 คลิป เป็นเวลารวม 90 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะต้องเข้าการอบรมภาคปฏิบัติในหน่วยฝึกอบรมที่กระจายตัวตามสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 27 สถาบัน จำนวน 150 ชั่วโมง กับผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรม Train the Trainers แล้ว


โดยในปี 2567 ได้มีการจัดอบรมประชาชนทั่วไปจากทุกหมู่บ้านแล้วจำนวน 1,304 คน โดยผู้ที่ผ่านอบรมอย่างเข้มข้นในหลักสูตรนี้จะได้รับใบประกาศนียบัตรจาก THACCA และใบประกาศนียบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรับรองทักษะของผู้ผ่านการอบรม นอกจากนั้น ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้เข้ารับการฝึกงานร่วมกับภาคเอกชน และมีโอกาสไปทำงานยังร้านอาหารไทยในต่างประเทศทั่วโลก ตามนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก”


ในปีถัดไป THACCA ตั้งเป้าจะขยายการอบรมให้มากขึ้นเป็น 17,000 คน ในปี 2568 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนครบ 75,086 คนภายใน 4 ปี


โครงการ “ร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย” : ยกระดับร้านอาหารชุมชน สู่ร้านอาหารที่พลาดไม่ได้


โครงการร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย เป็นโครงการที่เปิดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจากทั่วประเทศ เข้ารับการอบรมเพื่อยกระดับทักษะการประกอบธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่การทำสต็อกวัตถุดิบ การบัญชีสำหรับร้านอาหาร การบริหารจัดการหน้าร้าน การทำประชาสัมพันธ์ การจัดจาน การเสิร์ฟ รวมถึงการบริหารจัดการภายในครัว เพื่อพัฒนาให้ร้านอาหารแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์เฉพาะและมีคุณภาพได้มาตรฐาน


ในปี 2567 ได้มีการจัดอบรมผู้ประกอบการร้านอาหารชุมชน ได้แล้วทั้งสิ้น 3 รุ่น จำนวน 42 ร้านอาหาร และมีผู้ประกอบการและทีมงานเข้าร่วมอบรมแล้วกว่า 163 คนจากทั่วประเทศ และในปี 2568 THACCA ตั้งเป้าว่าจะอบรมผู้ประกอบการและทีมงานให้ได้ 400 คน จาก 100 ร้านค้าทั่วประเทศ ก่อนที่จะขยับเพิ่มขึ้นในปีต่อไป


“ทำกินได้ ทำขายดี” และ “อาหารไทย 50 ตำรับ” หลักสูตรออนไลน์ที่พร้อมสอนสำหรับคนไม่มีเวลา

นอกจากโครงการอบรมแบบออนไซต์ทั้ง 2 โครงการนี้แล้ว ทาง THACCA โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ได้จัดทำหลักสูตรออนไลน์ “ทำกินได้ ทำขายดี” ซึ่งเป็นหลักสูตรสั้นจำนวน 15 คลิป 15 เมนู จาก 15 เชฟชื่อดังของประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเรียนหลักสูตรทำอาหาร สามารถลงเรียนได้แม้ว่าจะไม่มีเวลาไปเรียนที่สถาบันโดยตรง รวมไปถึงหลักสูตร “อาหารไทย 50 ตำหรับ” ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์เช่นกัน ที่ออกแบบเป็นคลิปสั้น จำนวน 50 คลิป 50 เมนูอาหารตำหรับไทย 


ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร “ทำกินได้ ทำขายดี” และหลักสูตร “อาหารไทย 50 ตำหรับ” ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ได้แล้วผ่านเว็บไซต์ https://ofos.thacca.go.th/ 


จากครัวไทยสู่ครัวโลก เป็น จากแม่ครัวไทยสู่ทูตซอฟต์พาวเวอร์


หนึ่งในกลไกที่รัฐบาลมองว่ามีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ไทย คือ ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ รัฐบาลจึงรื้อฟื้นโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ร้านทั่วโลก จากเดิมที่มีอยู่ราว 20,000 ร้าน ซึ่งการที่จะขยายจำนวนร้านอาหารไทยให้มากขึ้นขนาดนั้น จำเป็นต้องมี “เชฟอาหารไทย” ที่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต จึงเกิดเป็นโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” เพื่อสร้างเชฟชาวไทยส่งออกไปทำงานยังร้านอาหารไทยทั่วโลก เพราะเราเชื่อว่าเสน่ห์แห่งอาหารไทยที่แท้จริงย่อมถูกส่งมอบผ่านฝีมือเชฟชาวไทย ดังนั้น เชฟอาหารไทย จะไม่ใช่เป็นเพียงแม่ครัวพ่อครัวอีกต่อไป แต่จะเป็น “ทูตซอฟต์พาวเวอร์” ที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทยไปมัดใจคนทั้งโลก

Tags : ofos #food