“ปลดล็อกกฎหมาย คลายกฎระเบียบ” เพื่อซอฟต์พาวเวอร์ ไปแล้วกี่เรื่อง?

20 Mar 2025

ตลอดการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากส่งเสริมให้เอกชนไปเปิดตลาดโลกและอบรมทักษะสร้างสรรค์แล้ว รัฐบาลได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อ “ปลดล็อกกฎหมาย คลายกฎระเบียบ” ให้ทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ ทลายอุปสรรคจากกฎหมายล้าหลังและเป็นการส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์อีกด้วย
รัฐบาลร่วมกับภาคเอกชน ได้ดำเนินการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายและมาตรการสิทธิประโยชน์อย่างน้อย 15 เรื่อง โดยได้มีการประกาศใช้แล้ว 6 เรื่อง และอยู่ในระหว่างจัดทำ 9 เรื่อง


หมายเหตุ : ข้อมูลนี้อัพเดตถึงวันที่ 20 มีนาคม 2567


กฎหมายและมาตรการสิทธิประโยชน์ที่ปรับปรุงและประกาศใช้แล้ว






(1) ประกาศเพิ่มสัดส่วนเอกชนในบอร์ดพิจารณาภาพยนตร์

ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แต่ละคณะ มีสัดส่วนกรรมการจากภาครัฐมากกว่าเอกชน ทำให้การตรวจพิจารณาหนังมักอยู่ในวิธีคิดของการควบคุมและเซนเซอร์เป็นหลัก รัฐบาลจึงออก “ประกาศการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์” ชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยสัดส่วนกรรมการจากเอกชนมากกว่าภาครัฐ และให้เอกชนเป็นประธานในทุกคณะ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ให้เอกชนคุมบอร์ดพิจารณาภาพยนตร์อย่างเต็มตัว และนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เสรีภาพของหนังไทยก็ผลิบาน มีการสร้างหนังไทยเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 70 เรื่อง จากเดิมที่มีไม่เกิน 50 เรื่อง และไม่มีหนังไทยเรื่องไหนถูกแบนอีกเลย


(2) ประกาศเพิ่มมาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) 30% ให้กองถ่ายต่างประเทศ

ประเทศไทยได้ออกมาตรการดึงดูดกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศให้เข้ามาถ่ายทำในไทยผ่านการคืนเงินสด (Cash Rebate) ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะหลายประเทศแข่งขันกันดึงดูดกองถ่ายต่างประเทศผ่านการให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าไทย รัฐบาลจึงทบทวนมาตรการคืนเงินสด โดยเพิ่มวงเงินคืนสูงสุดเป็น 30% ไม่จำกัดเพดานวงเงิน สำหรับกองถ่ายที่ลงทุนในไทยเกิน 50 ล้านบาท ทำให้กองถ่ายจำนวนมากที่เคยจะไปถ่ายทำในประเทศอื่น หันกลับมาถ่ายทำในประเทศไทยราว 400-500 เรื่อง นำมาซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 6,500 ล้านบาท/ปี


(3) ปลดล็อกเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศ ฉายหนังไม่ต้องผ่านกองเซนเซอร์

ที่ผ่านมา การฉายภาพยนตร์ในงานเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศที่จัดในไทย จะต้องผ่านการตรวจสอบโดยบอร์ดภาพยนตร์ก่อน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการจัดงานเทศกาลในประเทศ จึงมีการผลักดันให้ทบทวนและออก “ประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่อง เทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศตามมาตรา 27(4) พ.ศ. 2568” โดยให้เทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศที่จัดในไทย สามารถขอขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว สามารถฉายหนังได้เลย ไม่ต้องส่งให้ตรวจก่อนฉายอีกต่อไป ซึ่งมาตรการนี้เป็นการส่งเสริมการจัดเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศในไทยมากยิ่งขึ้น






(4) ปลดล็อกให้หนังสือ ไม่เป็นสินค้าควบคุมฉลาก เปิดเสรีภาพคนทำหนังสือ

การพิมพ์หนังสือเคยถูกกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากโดยคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก รัฐบาลจึงได้ทบทวนและนำไปสู่การออก “ประกาศคณะกรรมการฉลาก เรื่อง กำหนดประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566” เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 โดยปลดล็อกนำหนังสือและแบบเรียนออกจากสินค้าควบคุมฉลาก เพื่อเปิดเสรีภาพให้คนทำหนังสือ ทำให้การพิมพ์หนังสือทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น


(5) วีซ่าเรียนมวยไทย ขยายเวลาอยู่ไทยจาก 60 วัน เป็น 90 วัน

รัฐบาลได้จัดทำ “วีซ่ามวยไทย (Muay Thai Visa) สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สนใจเรียนมวยไทย จากเดิมที่ได้วีซ่าท่องเที่ยวปกติ 60 วันอยู่แล้ว แต่หากเรียนมวยไทยด้วยจะสามารถอยู่ในไทยเพิ่มอีก 30 วัน รวมเป็น 90 วัน ซึ่งมาตรการนี้ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและเผยแพร่มวยไทยให้โลกรู้จักมากขึ้น โดยปี 2567 มีนักท่องเที่ยวที่ได้รับวีซ่ามวยไทยแล้วกว่า 13 ประเทศ


(6) ผ่อนคลายมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬา

การจัดงานแข่งขันหรือเทศกาลขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่กว้างเพียงพอและสะดวกสำหรับคนนับหมื่น และสถานที่เหล่านั้นมักเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ แต่ด้วยกฎหมายได้ห้ามมิให้มีการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการ ทำให้ผู้จัดเทศกาลต้องเสียโอกาสและเสียบรรยากาศแห่งความสุข
รัฐบาลจึงทำการผ่อนคลายระเบียบดังกล่าว และจัดโซนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมการแข่งขันหรือเทศกาล สามารถดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่จัดงานได้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเสริมสร้างบรรยากาศแห่งความสนุกภายในงาน โดยมีการนำร่องในพื้นที่สนามราชมังคลากีฬาสถานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567


กฎหมายและมาตรการสิทธิประโยชน์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและเตรียมประกาศใช้

การปลดล็อกกฎหมายแต่ละฉบับไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลได้เร่งรัดศึกษาและจัดทำร่างแก้ไขจนมีกฎหมายและมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านซอฟต์พาวเวอร์อีก 7 เรื่องที่คืบหน้าและจ่อประกาศใช้ในเร็วๆ นี้






(1) จัดตั้งเขตปลอดอากรประเภทหอศิลป์

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะและกรมศุลการกร ได้ร่วมกันจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ปลอดภาษีนำเข้างานศิลปะ เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งเก็บและจัดแสดงงานศิลปะที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งกำหนดให้พื้นที่ปลอดภาษีต้องจัดแสดงผลงานศิลปินไทยด้วย เพื่อสนับสนุนศิลปินภายในประเทศ
นอกจากนี้ ปยป. ร่วมกับกรมศุลการ กระทรวงวัฒนธรรม TCEB และอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ ได้เร่งรัดผลักดัน “มาตรการปรับลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้างานศิลปะเพื่อจำหน่าย” เพื่อช่วยลดต้นทุนและภาระภาษีให้กับอุตสาหกรรมศิลปะในภาพรวม ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางศิลปะแห่งเอเชีย


สถานะ : เตรียมประกาศใช้ เดือนเมษายน 2568


(2) ผ่อนคลาย มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่

คณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ทบทวนมาตรการห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ โดยผ่อนคลายอนุญาตให้มีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในวันพระใหญ่ 5 วัน ในเขตสนามบินระหว่างประเทศ โรงแรม สถานบริการ และในอีเวนต์ระดับชาติ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ 


สถานะ : อยู่ในระหว่างรับฟังความเห็น ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามประกาศใช้ ภายในเดือนพฤษภาคม 2568


(3) มาตรการลดหย่อนภาษีซื้องานศิลปะ และสนับสนุนศิลปิน

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ ร่วมกับกรมสรรพากรยกร่าง 2 มาตรการเพื่อสนับสนุนศิลปะและศิลปิน ได้แก่
(1) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้องานศิลปะ ลดหย่อนไม่เกิน 100,000 บาท
(2) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ หักค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 60%


สถานะ : อยู่ระหว่างออกกฎกระทรวง คาดว่าประกาศใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2568






(4) ปลดล็อกกฎกระทรวง ส่งเสริมโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก (Microcinema)

การเปิดกิจการโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กนั้น จำเป็นต้องขออนุญาตตาม พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และพรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่ง พรบ.ควบคุมอาคาร ได้มีการกำหนดรายละเอียดยิบย่อยมากเกินกว่าที่โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กจะปฏิบัติได้ อันเป็นอุปสรรคต่อวงการภาพยนตร์ในภาพรวม 
รัฐบาลจึงนำผู้แทนโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กและภาครัฐมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยในระยะสั้น ให้มีการทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออาศัยช่องทางกฎหมายเดิมให้โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กยังดำเนินกิจการต่อได้ ระยะกลาง ตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการควบคุมอาคารเพื่อจัดทำร่างแก้ไขกฎกระทรวง และระยะยาว คือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่


สถานะ : โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กสามารถดำเนินกิจการต่อได้แล้ว และมีการตั้งคณะอนุกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดทำร่างแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแก้ไขกฎกระทรวง


(5) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. …. (พรบ. THACCA)

เพื่อให้มีการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นระบบครบวงจรในองค์กรเดียว จึงได้จัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. ….” หรือ พรบ.THACCA เพื่อจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) รวมไปถึงกองทุนส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ศูนย์บริหารเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) การคุ้มครองสิทธิแรงงานและกลไกอื่นสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ในทุกด้าน
ร่างพรบ.THACCA มีการจัดทำร่างเสร็จแล้ว ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและปรับร่างจนสมบูรณ์ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติแล้ว 


สถานะ : อยู่ระหว่างนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในกลางปี 2568


(6) ร่างพระราชบัญญัติ ภาพยนตร์ พ.ศ. … (พรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่)

พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ถือเป็นกฎหมายที่มุ่งควบคุมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รัฐบาลจึงจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่” เพื่อปลดล็อกข้อจำกัด เลิกการแบนหนัง ผ่อนคลายการจัดเรตโดยมุ่งให้เอกชนดูแลกันเอง (Self-regulate) และส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น โดยร่างพรบ.ฉบับนี้เป็นการจัดทำกฎหมายร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นและปรับปรุงจนได้ร่างที่สมบูรณ์ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติแล้ว


สถานะ : อยู่ในระหว่างนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกลางปี 2568






(7) ร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. … (พรบ.เกม)

ที่ผ่านมา เกมอยู่ภายใต้การควบคุมของพรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า อุตสาหกรรมเกม มีบริบทที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จึงให้มีการแยกกิจการเกมออกจากพรบ.ภาพยนตร์ โดยจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. …” เพื่อมุ่งส่งเสริมกิจการเกมในไทย มีกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม รวมถึงกลไกดูแลเยาวชนจากความรุนแรงในเกมอีกด้วย โดยร่างพรบ.เกม ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นและปรับปรุงจนได้ร่างที่สมบูรณ์แล้ว


สถานะ : อยู่ระหว่างนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกลางปี 2568


(8) ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้งานลิขสิทธิ์ และสิทธิของนักแสดง

การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน มีความซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรมต่อศิลปิน รัฐบาลจึงจัดทำร่าง “กฎหมายว่าด้วยการจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้งานลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง” เพื่อให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ไทยไม่ซ้ำซ้อน เป็นธรรมและชัดเจนมากขึ้น


สถานะ : อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการยกร่างกฎหมาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568


(9) มาตรการลดหย่อนภาษีให้ผู้จ้างสถาปนิกนักออกแบบ (TETDC)

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ เสนอแนวคิดมาตรการทางภาษี (TETDC) เพื่อให้ผู้จ้างสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างสถาปนิกนักออกแบบไทยไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการจ้างงานสถาปนิกนักออกแบบไทย และเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไทยจากเป็นผู้รับจ้างผลิต สู่ผู้ออกแบบและผลิตด้วยตัวเอง


สถานะ : อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)


ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างของการผลักดันเพื่อ “ปลดล็อกกฎหมาย คลายกฎระเบียบ” แต่แน่นอนว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่ายดั่งลัดนิ้วมือ หากแต่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือทั้งจากรัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระบบ และนี่คือ “ภารกิจของเรา”



Tags :