สรุปผลงานการอบรม OFOS ด้านแฟชั่น ปี 2567

14 Mar 2025

THACCA-Thailand Creative Culture Agency โดยอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ภายใต้การนำของ คุณอัจฉรา อัมพุช ประธานอนุกรรมการฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันสิ่งทอ หน่วยงานพันธมิตรและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จัดอบรม Upskill Reskill ทักษะด้านแฟชั่น ตามนโยบาย “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS)” แล้วกว่า 2,027 คนทั่วประเทศ 
โดยปี 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการอบรมใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ด้านหัตถอุตสาหกรรม ด้านผลิตภัณฑ์ความงาม และด้านอัญมณีและเครื่องประดับ


ด้านเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม : สร้างดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ เสริมไฟดีไซน์เนอร์รุ่นใหญ่

ได้มีการจัดอบรม Upskill & Reskill ด้านเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม รวมแล้วกว่า 356 คน แบ่งออกเป็น 5 หลักสูตร 


(1) หลักสูตร Oversized Pattern

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนานักออกแบบเสื้อผ้า ผ่านการสอนด้านการคัดลือกเนื้อผ้า การออกแบบและตัดเย็บเพื่อทำแพตเทิร์นสำหรับเสื้อผ้าโอเวอร์ไซส์ ทั้งเสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อสูท โดยมีการจัดอบรมที่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมอบรมแล้ว 100 คน

(2) หลักสูตร การเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการแฟชั่นบนแนวคิด วัฒนธรรมสร้างสรรค์

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนานักออกแบบเสื้อผ้า ผ่านการสอนด้านการคัดเลือกเนื้อผ้า การออกแบบและตัดแพตเทิร์นสำหรับเสื้อผ้าทั่วไป โดยมีการจัดอบรมที่ ขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมอบรมแล้ว 56 คน

(3) หลักสูตร Embroidery Work

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาช่างปักผ้าและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์งานปัก ผ่านการสอนด้านเทคนิคการปักผ้า การพัฒนาทักษะในการสร้างสรรค์ลายปัก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้จริง โดยมีการจัดอบรมที่ จ.นราธิวาส มีผู้เข้าร่วมการอบรมแล้ว 50 คน

(4) หลักสูตร Thai Crochet

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนานักถักงานฝีมือ ผ่านการสอนด้านเทคนิคงานถักโครเชต์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐานการถัก การสร้างห่วงแบบต่างๆ เรียนรู้การประยุกต์วัสดุอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อใช้ในการออกแบบและสร้างผลงาน โดยมีการจัดอบรมที่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมอบรม 50 คน

(5) หลักสูตร AI Branding & Market

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการแฟชั่น ผ่านการสอบด้านการสร้างแบรนด์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ และการทำการตลาดสมัยใหม่ โดยมีการจัดอบรมที่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมอบรม 100 คน


ด้านหัตถอุตสาหกรรม (คราฟต์) : สานต่อภูมิปัญญา เพิ่มมูลค่างานฝีมือท้องถิ่น

ได้มีการจัดอบรมชาวบ้านและเยาวชนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อยกระดับงานฝีมือและสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น โดยอบรมแล้ว 1,205 คน แบ่งเป็น 8 หลักสูตร


(1) หลักสูตรสานหวาย ไผ่ ด้วยเทคนิคต่างๆ เพื่อเป็น Art Toy

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้ช่างสานหวายและไผ่ผ่านการสานเป็น Art Toy และมุ่งเน้นการผสมผสานศิลปะหัตถกรรมดั้งเดิมของไทยเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่ โดยมีการจัดอบรมที่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมอบรม 50 คน

(2) หลักสูตรสานลิเภาบนโมลด์เพื่อสร้างรูปทรงให้กระเป๋าแบบ Basket Work

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้ช่างสาน ด้วยการนำวัสดุธรรมชาติอย่างลิเภามาสานให้เป็นกระเป๋าและเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้ทักษะงานสายลิเภาอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีการจัดอบรมที่ จ.นครศรีธรรมราช มีผู้ร่วมอบรม 50 คน

(3) หลักสูตรสานกระจูดด้วยเทคนิคต่างๆ สำหรับกระเป๋า

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้ช่างสาน ด้วยการผสานทักษะหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างการสานกระจูด เข้ากับการออกแบบสมัยใหม่เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีการจัดอบรมที่ จ.นครศรีธรรมราช มีผู้ร่วมอบรม 50 คน

(4) หลักสูตรทอเสื่อ แปรรูปกก ให้เป็นกระเป๋าแบบต่างๆ

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้ช่างทอเสื่อ ด้วยการมุ่งเน้นเทคนิคการทอเสื่อแบบดั้งเดิมของไทยและการออกแบบร่วมสมัย เพื่อสร้างกระเป๋าที่มีความแข็งแรงและสวยงาม โดยมีการจัดอบรมที่ จ.จันทบุรี มีผู้ร่วมอบรม 50 คน

(5) หลักสูตรเทคนิคทำลวดลายจกบนผ้าทอเพื่อสร้างเป็นเนคไท

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้ช่างทอผ้า ด้วยการมุ่งเน้นผสมผสานศิลปะการทอผ้ากับเทคนิคการจกซึ่งเป็นเทคนิคการทอผ้าประจำจังหวัดสุโขทัย เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นสมัยใหม่ที่คงความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีการจัดอบรมที่ จ.สุโขทัย มีผู้ร่วมอบรม 50 คน

(6) หลักสูตรการออกแบบและการสร้างคอลเลคชั่นแฟชั่นอย่างมืออาชีพและการใช้สีกับงานแฟชั่น

เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนานักออกแบบรุ่นใหม่ ผ่านการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะพื้นฐานด้านหัตถกรรมและการออกแบบเพื่อสร้างคอลเลคชั่นใหม่ รวมถึงเทคนิคการใช้สีที่เหมาะสมกับเทรนด์ปัจจุบันเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีการจัดอบรมใน 3 จังหวัด คือ อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน มีผู้ร่วมอบรมรวม 150 คน

(7) หลักสูตรงานคราฟต์ท้องถิ่นสู่เวทีโลก สร้างสรรค์ผืนผ้าด้วยสีธรรมชาติ

เป็นหลักสูตรสำหรับการออกแบบลวดลายผ้าและการออกแบบผลิตภัณฑ์ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสีธรรมชาติ การทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยการมัดย้อม การพิมพ์แบบ Eco-print เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตสินค้าแฟชั่นจากสีธรรมชาติได้เองในทุกขั้นตอน โดยมีการจัดอบรมใน 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี มีผู้ร่วมอบรมรวม 253 คน

(8) หลักสูตรการออกแบบและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยเทคโนโลยีย้อมสีธรรมชาติและตกแต่งสำเร็จ

เป็นหลักสูตรสำหรับการออกแบบ การย้อมด้วยครามธรรมชาติ เทคนิคการพิมพ์กัดสีคราม และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยเทคโนโลยีการตกแต่งสำเร็จ โดยมีการจัดอบรมใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ชลบุรี น่าน พะเยา สุรินทร์ บุรีรัมย์ มีผู้ร่วมอบรมรวม 552 คน


ด้านผลิตภัณฑ์ความงาม : เสริมความงาม สร้างรายได้ เพื่อความสวยและรวยมาก

ได้มีการจัดอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมความงาม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับช่างเสริมสวยในด้านต่างๆ โดยอบรมแล้ว 412 คน แบ่งเป็น 3 หลักสูตร


(1) หลักสูตร Makeup for Professional 

เป็นหลักสูตรสอนการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่สู่มืออาชีพ โดยคุณฉัตรชัย เพียงอภิชาติ (น้องฉัตร) ช่างแต่งหน้าชื่อดังแถวหน้าระดับประเทศ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรมสามารถกลับไปประกอบอาชีพแต่งหน้าได้ทันทีหลังจากการอบรม โดยมีการจัดอบรมใน กรุงเทพฯ จำนวน 3 รุ่น มีผู้ร่วมอบรมรวม 150 คน

(2) หลักสูตร Manicure Pedicure

เป็นหลักสูตรสอนการทำเล็บสำหรับผู้ที่สนใจอยากเปิดร้านทำเล็บเป็นของตนเอง ซึ่งอบรมตั้งแต่หลักการพื้นฐาน วิธีการทำเล็บประเภทต่างๆ เพื่อใช้สำหรับการประกอบอาชีพ โดยมีการจัดอบรมใน กรุงเทพฯ มีผู้ร่วมอบรม 150 คน

(3) หลักสูตร Beauty Product with Thai Herbal Ingredients

เป็นหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการด้านการผลิตและแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม เช่น เครื่องสำอาง สบู่ และอื่นๆ เพื่อยกระดับความปลอดภัยและคุณภาพให้มีมาตรฐาน โดยมีการจัดอบรมใน กรุงเทพฯ มีผู้ร่วมอบรม 112 คน


ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ : อัพสกิลช่างไทย เจียระไนฝีมือช่างพลอย

มีการจัดอบรมเพื่อ Upskill & Reskill ช่างอัญมณีซึ่งเป็นอาชีพที่กำลังจะสูญหายได้ส่งมอบองค์ความรู้สู่ช่างอัญมณีรุ่นใหม่เพื่อสานต่อภูมิปัญญาให้คงอยู่ โดยหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาช่างอัญมณีรุ่นใหญ่ให้มีการทบทวนทักษะเดิม เสริมทักษะใหม่ และออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น รวมถึงพัฒนาช่างอัญมณีรุ่นใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรภายในอุตสาหกรรมอัญมณีด้วย โดยมีการจัดอบรมที่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 54 คน


2,027 คน - เติมคนเก่ง เสริมแกร่งอุตสาหกรรม เพื่อแฟชั่นไทย

ปี 2567 นับเป็นปีแรกที่ THACCA โดยอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น และหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ริเริ่มจัดทำโครงการฝึกอบรมทักษะด้านแฟชั่นตามนโยบาย “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์” (OFOS) เพื่อเติมคนเก่งเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นให้มากขึ้น และในปีถัดๆ ไป คณะอนุกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำการต่อยอดความสำเร็จ ด้วยการส่งเสริมให้บุคลากรที่ผ่านการอบรมในหลักสูตร OFOS ด้านแฟชั่นทุกหลักสูตร  ได้มีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจแฟชั่นเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นการเติมผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นหน้าใหม่ เสริมแกร่งอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เติบโตและเฉิดฉายได้บนเวทีโลก

Tags : fashion #ofos