โครงการ “OFOS-หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์" โครงการที่จะพัฒนาและเสริมศักยภาพสร้างสรรค์ให้กับคนไทย ใกล้ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการแล้วในต้นเดือนมิถุนายน
วันนี้เราจึงอยากเริ่มต้นพาทุกคนไปรู้จักกับ OFOS ของอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย” กับ “เชฟชุมพล แจ้งไพร” ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนขับอุตสาหกรรมด้านอาหาร
◾️ เมื่อถามว่า อะไร? คือสิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทย สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งเลยนั่นก็คือ “อาหารไทย”
จากข้อมูลของภาครัฐ ในช่วงต้นปี 2566 มีการเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยมากกว่า 12,000 ร้านทั่วโลก หากนับเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา มีร้านอาหารไทยอยู่มากกว่า 5,000 ร้าน และเมื่อปี 2564 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่ากว่า 1,107,450 ล้านบาท โดยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก
เห็นตัวเลขที่ผ่านมา ก็พอจะเดาได้ว่า จุดเล็กๆ บนแผนที่โลกอย่าง “ประเทศไทย” ทรงอิทธิพลด้านอาหารขนาดไหน และสิ่งนี้เราจะพูดได้เต็มปากหรือยังว่า “อาหารไทย” คือ หนึ่งใน “Soft Power”
นี่ยังไม่นับรวมการจัดอันดับต่างๆ ที่ให้อาหารไทย ทั้งคาวและหวาน ยืน 1 ในเรื่องรสชาติครองใจคนทั้งโลก อย่างเบสิกสุดๆ ก็ติด Top 5 ทุกครั้งในการจัดอันดับ และรวมถึง “เชฟอาหารไทย” ที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลกนับหมื่นคน ทำอาหารไทยทั้งรสชาติแบบต้นฉบับและฟิวชั่ว นับล้านๆ สำรับ ให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรสจนหลงใหล และอยากบินมาเมืองไทยเพื่อสัมผัสรสชาติแบบ “ของแทร่”
ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เราไม่อาจหยุดเพียงแค่นี้ได้ ยังไม่พอ ต้องไปต่อ ด้วยเป้าหมายที่ท้าทาย และเป็นความท้าทายที่ “สร้างโอกาส” ให้กับคนธรรมดา ซึ่งเป็น “ยอดฝีมือ” จากทั่วประเทศ ไม่ว่าท่านจะอยู่อำเภอที่ห่างไกล อยู่ลึกในซอยเปลี่ยว ทำอาหารอย่างโดดเดี่ยวกินอร่อยแต่เพียงผู้เดียวหลายปี แต่ครั้งนี้ คือโอกาสอันสำคัญ ที่จะทำให้ท่านโกอินเตอร์ กับโครงการ “1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย”
และในวันนี้ เราจะมาพูดคุยกับผู้ริเริ่มโครงการนี้ เขาคือ “ชุมพล แจ้งไพร” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “เชฟชุมพล” ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ และประธานคณะอนุฯ ด้านอุตสาหกรรมอาหาร จากประสบการณ์ร่วม 40 ปี จับตะหลิวทำกับข้าวกินเองตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ผ่านการล้มลุกคลุกคลานในวงการอาหาร สู่เชฟมือทองลำดับต้นๆ ของประเทศไทยในปัจจุบัน มีหลักสูตรการสอนทำอาหารเป็นของตัวเองอีกต่างหาก!
◾️ ใครคือ “เชฟชุมพล” เติบโตมาอย่างไร?
“พูดถึงการทำอาหารไทยของผม ปีนี้เป็นปีที่ 40 ชีวิตการเริ่มต้นของผม คือเด็กบ้านนอก ที่เข้ามาเรียนและทำงานไปด้วยในกรุงเทพฯ สิ่งนี้คือสิ่งที่ติดตัวผมมา”
“อุปสรรค ในการเป็นเชฟในยุคก่อน คือ ครอบครัว สมัยก่อนไม่มีใครอยากให้ลูกไปทำอาชีพเชฟ หรือพ่อครัวหรอก อาชีพที่ประหนึ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงงาน และเป็นอาชีพที่อยู่ท้ายๆ ของการเลือกเรียน แต่ปัจจุบัน คณะที่เกี่ยวกับการทำอาหาร เป็น Top 5 ที่คนเลือกเรียนเลยนะ วันนี้ อาชีพเชฟทำอาหารเป็น “สกิลพิเศษ” หรืออาชีพที่ต้องการเทคนิคสูง และอาชีพนี้สามารถทำมาหากินได้ทั้งโลก มีโอกาสเยอะ”
“การเป็นเชฟอาหารไทยในสมัยก่อนกับยุคนี้ มีความแตกต่างกันมาก มีทั้งโอกาสและอุปสรรคมาก แต่อาชีพเชฟอาหารไทย ผมยืนยันเลยว่า ในวันนี้อาชีพนี้มีความมั่นคง มีโอกาสในพัฒนาตัวเองให้เป็นเจ้าของธุรกิจ และ ผู้ประกอบการได้”
“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานในการขับเคลื่อนโครงการ ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ ในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” และนี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผ่านมา 20 ให้หลัง วงการอาหารไทย มีการพัฒนา และมีโอกาสมากขึ้น แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องที่ต้องปรับปรุงและพัฒนา และต้องการการสนับสนุนจากคนไทยและประเทศไทย”
“และในวันนี้ผมจะใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทย ให้ไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารไทย ขยายไปประเทศทั่วโลก”
◾️ คณะซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร กำลังทำอะไรอยู่?
“ผมเสนอโครงการไปราว 10 โครงการ แต่จะมีโครงการเร่งด่วนที่เราทำ 2 โครงการ นั่นคือ ‘โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย’ และ ‘โครงการร้านอาหารเชฟชุมชน’
เราอยากให้สิ่งนี้คือ ‘Soft Power’ ที่เป็นรูปธรรม ที่ประชาชนได้ประโยชน์ และเป็นมดงานสำคัญ ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ และแน่นอน 2 โครงการนี้ จะอยู่ไปกว่า 4 ปี เรามีแผนพัฒนาโครงการและยุทธศาสตร์การทำงาน ตลอดทั้ง 4 ปี เรารวบรวมพันธมิตรหลายกระทรวง ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศัยภาพของประชาชนชนผ่านร่มใหญ่ของโครงการ ‘OFOS’ เพื่อจะอัพสกิลและรีสกิล เพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง”
◾️ “1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย” ทำไมต้องส่งออกเชฟไทยไปต่างแดน ขาดแคลนเหรอ?
“ที่ผ่านมา การทำอาหารไทยอยู่ในสภาวะ ‘ครูพักลักจำ’ มาเรื่อยๆ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เรามีการพัฒนาการเรียนการสอน ‘อาหารไทย’ ให้เป็นรูปแบบมากขึ้น ทำให้ร้านอาหารไทยในต่างแดน รวมถึงในประเทศไทย จึงล้วนต้องการบุคลการที่มีฝีมือมากขึ้น พอมีฝีมือแล้ว ก็เหมือนนักฟุตบอล มีการซื้อตัว มีการจ่ายค่าตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้น”
“เมื่อถึงจุดนี้ เราจึงวางเป้าหมายสำหรับโครงการ ‘1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย’ ที่ไม่ได้มีแค่การเรียนการสอนอย่างเดียว เรายังจะมีการ ‘ฝึกงาน’ เมื่อฝึกจบแล้ว เราจะหางานให้ทำทั้งในและต่างประเทศ และหากคุณมีศักยภาพด้านภาษา คุณก็ยิ่งมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น และคณะอนุฯ ของเรา เรามองภาพตั้งแต่ ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ที่เริ่มตั้งแต่ การฝึกฝน ฝึกงาน หางาน ซึ่งจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มศักภาพ และเราต้องการเพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้ ให้กับประชาชนจริงๆ”
“โครงการนี้ ผมในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ฯ ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ผมสามารถรับรองได้เลยว่า เราจะจัดหางานให้หลังการฝึกอย่างแน่นอน เรามีกลุ่มพันธมิตร ที่เป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารทั้งในและต่างประเทศ เราเตรียมพร้อมทุกด้านที่จะรองรับผลิตผลจากการฝึกฝนในครั้งนี้”
“ที่สำคัญที่สุด การพัฒนาเชฟในโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ทุกคนจะต้องเป็น Brand Ambassador และ Salesman ของหมู่บ้านตัวเอง ในการขายผลิตภัณฑ์ หรือแนะนำสินค้าเกษตรดีๆ ของชุมชม ให้กับชาวโลกให้รู้จัก เราจะใช้โซเชียลมีเดีย ในการแนะนำว่า หมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอ-จังหวัด นี้มีอะไรดี และเป้าหมาย 4 ปีนี้ เราต้องการจะพัฒนาให้ครบทั้ง 79,000 หมู่บ้าน ทั่วประเทศไทย”
◾️ เรียนฟรี - ไม่เหลื่อมล้ำ - มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
“ผมทำหลักสูตรมาการเรียนการสอนอาหารมากว่า 10 ปี เราจะเอาโครงหลักสูตรนี้มาทำเป็นหลักสูตรหลัก ปรับให้ครบ 240 ชั่วโมง มีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เราจะลุยๆ ทำอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่องค์ความรู้ด้านการบริหารเราก็ต้องมีด้วย แต่การเรียนทฤษฎีอาจจะสักประมาณ 30% และภาคปฏิบัติ 70% ไม่ใช่สอนแค่การทำอาหาร-จับเขียง แต่เราจะทำให้คุณรู้ถึงที่มาและที่ไปของการทำอาหาร และวัตถุดิบ สิ่งนี้เขาต้องปลูกฝังเพื่อเปรียบเทียบระหว่างวัตถุดิบของไทยและที่อื่นๆ ว่าของเราดีกว่าอย่างไร”
“ที่สำคัญ อาหารไทยมีเรื่องของภูมิปัญญา การใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพ สิ่งเหล่านี้ ต้องเรียนรู้ และฝึกงานในสถานที่จริง เราต้องการคนพร้อมจริงๆ ทั้งเรื่องเวลา และความมุ่งมั่นตั้งใจ 10,000 คนในปีแรก โดยคัดจากทุกหมู่บ้าน”
◾️ รู้ครบจบใน 240 ชั่วโมง! จาก “เชฟอาชีพ” สู่อนาคต “เจ้าของกิจการ”
“ใน 240 ชั่วโมง เรามีทั้งหมด 4 หลักสูตร โดยยกตัวอย่าง 3 หลักสูตร
1.ทำกินได้ : ทำขายดี
เป็นหลักสูตรที่นำร้านอาหารเจ้าดังที่ประสบความสำเร็จ มาถ่ายทอดหลักสูตรให้
2.MBA chef
คือเชฟที่มีความรู้อยู่แล้วในการทำอาหาร แต่อยากเพิ่มองค์ความรู้ด้านการบริหาร ก็เหมือนการเรียน MBA โดยเราจะมีหลักสูตรการบริหารครัว บริหารคน และบริหารคอร์ส เพื่อจะได้อัพเกรดตัวเองไปเป็น “เชฟบริหารได้” และพอเราอัพสกิลตรงนี้แล้ว เขาก็จะมีตำแหน่งสูงขึ้นและรายได้เพิ่มมากขึ้น
3.Thai Restaurant Entrepreneur
นี่เป็นอีกหลักสูตรที่น่าสนใจ นี่คือหลักสูตรการสร้างเจ้าของร้านอาหารไทย สมมติว่าคุณมีทุนอยากเปิดร้านอาหาร คุณต้องมีองค์ความรู้ด้วย ไม่ใช่มีเงินอย่างเดียวก็เปิดได้ คุณจะต้องรู้เพื่อลดความเสี่ยง เปิดแล้วไม่เจ๊ง ลดการเสียดายเงินและเวลา”
“การเรียนอาหารไทยของเรา ไม่ใช่แค่ทำเป็น แต่ต้องมีองค์ความรู้ เป็นเชฟมืออาชีพ และเราจะถ่ายทอดองค์ความรู้ออกไป และเราจะสร้างชุมชนร้านอาหารไทย ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มีการแลกเปลี่ยนกันได้ เหมือนในหลายๆ วงการ”
“และทั้ง 4 หลักสูตร เรามีการร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) และมีกว่า 80 วิทยาลัย-มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงในสังกัดอาชีวะ รวมกัน 150 สถาบัน ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสถานศึกษาที่กล่าวมานั้น จะเป็นศูนย์เทรนนิ่ง OFOS ในอุตสาหกรรมอาหารเรา เตรียมตัวเลยครับ”
“ถ้าธุรกิจอาหารโต ร้านอาหารโต ค้าขายโต แรงงานโต อุตสหากรรมอาหาร และที่เกี่ยวข้องก็จะโตตามกันไปหมด”
◾️ “เพิ่มเชฟมืออาชีพในตลาดโลก - คนไทย ไม่ด้อยกว่า - Salesmen ประเทศไทยผ่านอาหาร”
“ปัจจุบันรายได้ของเชฟอาหารไทยปกติต่อเดือน ในประเทศไท และในเอเชีย เรตต่ำสุดคือ 38,000-80,000 บาท ระดับหัวหน้าห้องอาหาร แม้กระทั่งในเมืองไทย เงินเดือนราว 120,000 บาท แต่เชฟอาหารไทยในฝั่งออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา รายได้ต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขหกหลัก นี่แสดงให้เห็นว่า ใครๆ ก็อยากได้เชฟอาหารไทย ดังนั้นโครงการของเราหลังจบหลักสูตรของเรา จะมีใบประกอบคุณวุฒิวิชาชีพ และเราจะเสริมสร้างคนที่มีสกิลในระดับที่นานาชาติต้องการ”
“ภาพฝันของผมสำหรับโครงการนี้ คือต้องการเพิ่มเชฟอาหารไทยมืออาชีพในระดับโลก นี่เป็นเรื่องสำคัญ และต้องการแสดงให้เห็นว่า เชฟอาหารไทย ก็มีมาตรฐานไม่ด้อยไปกว่าเชฟชาติใดในโลก ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ในระดับสากล เขารู้อะไรกัน เขาหั่นและทำอาหารกันอย่างไร Food Idea Standard หรือ World Food Idea Standard เป็นแบบไหน เราและเขาก็รู้เท่าเทียมกัน และเชฟอาหารนี่แหละ ที่จะเป็น ‘กองรบ’ ในการขยายร้ายอาหารไทยในตลาดโลก ที่เราตั้งเป้าว่าจะมีร้านอาหาร 100,000 ร้านในอีก 4 ปี ข้างหน้า บุคลากรที่สำคัญ คือ เชฟ”
“ที่สำคัญ เราต้องการให้เชฟที่อยู่ในหลักสูตรโดย THACCA ของเรานั้น เป็น Salesman ของประเทศไทย ที่จะสามารถจะพรีเซนต์ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย สู่สายตาชาวโลก นี่คือการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนไทย และ เชฟที่เราจะเทรนได้ จะต้องบอกได้ว่า สินค้าไทยคุณภาพแบบไหนที่ตลาดมีความต้องการ เพื่อจะส่งย้อนมาถึงเกษตรกร ที่เป็นต้นน้ำในการผลิต และนี่คือการทำงานร่วมกันของเรา”
“ผมเองเดินทางมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทุกทวีป เราเห็นเครือข่ายของร้านอาหารไทย เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร และเราจะซัพพอร์ตเขาได้อย่างไร ตอนนี้แม้กระทั่งยังไม่ได้เริ่มโครงการ ร้านอาหารจากทั่วโลกเริ่มถามแล้วว่าเรามีคนแล้วหรือยัง เพราะเขาต้องการเชฟจากกลุ่มที่เราจะเทรนออกไป นี่คือสิ่งที่เราประสานและเตรียมการไว้หมดแล้ว”
“คนทำอาหาร คือ หมอคนแรกของคนทานอาหาร เพราะถ้าคุณทำอาหารที่ไม่มีคุณภาพ คนที่ทานอาหารของคุณก็มีสุขภาพที่ดีไม่ได้”