คือคำประกาศกร้าวของ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล อดีตประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้าน ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่น ซึ่งสะท้อนถึงความทะเยอทะยานและเป้าหมายใหญ่ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่นของไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกและสร้างรายได้เข้าประเทศให้ได้
แต่จะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร? เราได้สรุปย่อยการแถลงนโยบายต่อคนในอุตสาหกรรม (ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่น) ของ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล บนเวที Vision Stage งาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 67 มาให้อ่านกัน
จุดนี้สำคัญที่สุด นั่นเพราะเราต้องการมีอิทธิพลในชาติอื่นๆ แล้วเราก็ปักธงไว้เลยว่า “เราจะขึ้นเป็นเสือตัวที่ 5 (ในวงการภาพยนตร์) ของเอเชีย” นี่เป็นเป้าหมายที่เราจะไปถึงให้ได้ เสือ 4 ตัวแรก คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนเสือตัวที่ 5 ตอนนี้กำลังขับเคี่ยวกันอยู่ในอุตสาหกรรมระหว่าง อินโดนีเซีย ไต้หวัน ไทย ออสเตรเลีย และรัสเซีย
ดังนั้น เราจะทำให้ประเทศของเราสร้างโอกาสและรายได้ผ่านทางภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่นให้ได้ แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายๆ รูปแบบ หลายๆ ด้าน ซึ่งนำมาสู่สิ่งที่เรากำลังจะทำ
นโยบายไม่ได้ช่วยให้ว่ายน้ำเป็น แต่ช่วยให้อยู่รอดและผลิตผลงานได้ ไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมอยู่ได้และมีรายได้อย่างมั่นคงในระยะยาว แต่ส่วนสำคัญคือการสร้างความหลากหลาย เป้าหมาย และการสร้างงานใหม่ๆ โดยสิ่งที่จะต้องผลักดันและปรับเปลี่ยน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
➕ กลุ่มผู้สร้าง
➕ กลุ่มผู้ลงทุน
➕ กลุ่มผู้ชม
➕ ภาครัฐบาล
แนวทางที่รัฐสามารถสนับสนุนกลุ่มผู้สร้าง เช่น สตูดิโอ ภาคโทรทัศน์ ค่ายภาพยนตร์ ฯลฯ ได้แก่
งบสนับสนุน - ทำให้ผลิตผลงานได้หลายเป้าหมาย แต่งบส่วนใหญ่มักถูกออกแบบมาให้มีเป้าหมายเดียว เช่น สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แต่การจะสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยรวมต้องมีหลายเป้าหมาย การสร้างกลุ่มผู้ชมเด็ก โดยพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นและละครทีวีที่มีคุณภาพ รัฐจึงต้องสร้างโครงสร้างและการสนับสนุน มากกว่าการควบคุมและกำกับดูแล
กฎหมาย - ทำให้ผู้สร้างมีอิสรภาพในการเล่าเรื่อง ยกร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ยกเลิกการแบนภาพยนตร์ และให้มีการกำกับดูแลกันเองในภาคเอกชนมากขึ้น กฎหมายเองต้องมีนิยามที่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบัน กลุ่ม Micro cinema กลุ่มรักหนัง และชมรมขนาดเล็กยังถูกคุกคามอยู่
สร้างการ up-skill , re-skill และกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ - นอกจากสร้างมาตรฐานการศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องทำให้เกิดสมาคมวิชาชีพ ที่สามารถนำมาตรฐานวิชาชีพไปต่อรองกับกระทรวงแรงงาน เพื่อสร้างรายได้ขั้นต่ำของวิชาชีพได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบัน เกิดการแข่งขันตัดราคากันเองในอุตสาหกรรม
มาตรการสิทธิประโยชน์ - การลดภาษีนิติบุคคล, การลดภาษีส่วนบุคคลให้กับบุคลากรในการทำงาน, การลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่น
มาตรฐานความปลอดภัยในกองถ่าย - ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในกองถ่ายที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยปีละประมาณ 30-40 คน เราจึงจะต้องสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและต้องมีการชดเชยอย่างเหมาะสม
เนื่องจากภาคโทรทัศน์มีการปลดคนจำนวนมาก เพราะเม็ดเงินจากการโฆษณาลดลง แต่ค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ และค่าแรง กลับสูงขึ้น ดังนั้นรัฐสามารถสนับสนุนผู้ลงทุนได้โดย
มาตรการส่งเสริมสปอนเซอร์ - เช่น เมื่อสปอนเซอร์สนับสนุนเงินจำนวน 1 ล้านบาท สปอนเซอร์สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นกระตุ้นให้สินค้าและบริการของไทย เข้ามาอยู่ในภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่นมากขึ้นเพื่อโปรโมตสินค้าด้วย
ลดภาวะผูกขาด - ปัจจุบันโรงภาพยนตร์มีเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น เราจะทำอย่างไรให้เกิดเจ้าที่สาม ปัญหาคือภาพยนตร์ไทยต้องการพื้นที่ฉายในโรงภาพยนตร์ แต่เราไม่มีพื้นที่เพียงพอ พื้นที่การฉายหนังไทยมีได้แค่ 60 เรื่อง/ปีเท่านั้น ในขณะที่ภาพยนตร์จากต่างประเทศกลับมีพื้นที่ฉายมากถึง 100-200 เรื่อง จะทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่ที่ 3 ที่สามารถฉายหนังไทยได้นานขึ้นและเข้าถึงง่ายขึ้น
เปิดเผยข้อมูลตัวเลขรายได้ภาพยนตร์ - เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์แต่ละเรื่องขายได้มากหรือน้อยในตลาดภาพยนตร์
สิ่งที่รัฐสามารถสนับสนุนกลุ่มผู้ชมได้
ลดหย่อนภาษีตั๋วภาพยนตร์ - สร้างฐานคนดูโดยครอบคลุมไปถึง ผู้มีรายได้ต่ำ ทำให้คนในอนาคตรู้ว่าศิลปวิจักษ์ (art appreciation) มีความสำคัญ
ทำให้คนดูเข้าถึงโรงภาพยนตร์มากขึ้น - สร้างโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กให้มากขึ้น เพื่อให้กลุ่มคนดูในทุกระดับสามารถเข้าถึงโรงภาพยนตร์ได้
ทำให้ผู้ชมเข้าใจศาสตร์ของการสร้างภาพยนตร์ - จะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลงานต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเสพภาพยนตร์มากขึ้น เช่น ประเทศเกาหลีใต้มีจำนวนการเสพของผู้ชมในประเทศต่องาน สูงกว่า 90% แทบทุกคนดูหนังในประเทศของตน
ภาครัฐต้องปรับความเข้าใจและมุมมองที่มีต่อภาพยนตร์ใหม่ เลิกมองว่าภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในเชิงอนุรักษ์และควบคุม
ปรับกระบวนการทางกฎหมาย - ตัวอย่างเช่น ให้อาชีพฟรีแลนซ์สามารถกู้เงินได้
ปรับงบประมาณแผ่นดิน - ให้สามารถสนับสนุนสมาคมวิชาชีพและผู้ประกอบการได้
One-stop Service - สร้างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ต้องการขออนุญาตถ่ายทำอย่างรวดเร็วและง่ายดาย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีอุปสรรค์อีกมากในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งจะไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันทีในระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคตในอีก 6 เดือน 1 ปี 5 ปี 10 ปี และ 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยยังต้องเดินทางต่อ
Tags: film