“เชฟชุมพล” ใช้ยุทธศาสตร์ 3S ดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยให้โลกหลงใหล

“เชฟชุมพล” ใช้ยุทธศาสตร์ 3S ดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยให้โลกหลงใหล

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 คุณชุมพล แจ้งไพร หรือ “เชฟชุมพล” ได้รับเชิญให้บรรยายในหัวข้อ “ซอฟต์พาวเวอร์กับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหารของไทย” เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชครบ 46 ปี ซึ่งจัดโดยสาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

โดยเชฟชุมพลได้เริ่มบรรยายให้เห็นถึงความสำคัญของอาหาร ในฐานะเครื่องมือทางการทูตที่เชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายชาติให้เข้าใจกันได้ แม้ไม่พูดอะไร และยังสร้างสายสัมพันธ์ทางความรู้สึกอย่างลึกซึ้งให้กับคนที่ได้ชิมจนยากที่จะลืมรสชาติ

ดังนั้น การทูตผ่านอาหาร (gastrodiplomacy) จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศ และสร้างเสน่ห์พิเศษเป็นจุดขายให้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ

จะเห็นว่าในช่วงปี 2544-2548 สมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็ดำเนินนโยบายการทูตผ่านอาหาร ในชื่อนโยบายที่สุดจะคุ้นหูว่า “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยการเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ส่งออกพ่อครัวแม่ครัวไทยกระจายไปตามร้านอาหารไทยทั่วโลก และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบอาหารคุณภาพดีที่มาจากประเทศไทยเท่านั้น

นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ทำให้หลายประเทศนำไปพัฒนาต่อ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทั่วโลกหลงใหลเสน่ห์อาหารไทยในทุกวันนี้

สำหรับยุทธศาสตร์ในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของ “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร” เป้าหมายสำคัญ คือ

“3 เพิ่ม”

  1. เพิ่มศักยภาพ มูลค่า และความปลอดภัย ในการผลิตอาหารทั้งวงจร ด้วยนวัตกรรมและการตลาด
  2. เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย อุตสาหกรรมอาหารไทย และรายได้มวลรวมของประเทศ
  3. เพิ่มพันธมิตรทางการค้าด้านอาหารในตลาดโลก และเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้อุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นที่รู้จักของโลกมากขึ้น

“3 ลด”

  1. ลดก๊าซเรือนกระจกและขยะอาหาร (food waste)
  2. ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และลดการกีดกันการค้าโลก
  3. ลดการขาดดุลการค้าของประเทศไทย ลดต้นทุนด้านสุขภาพที่คนไทยต้องเสียในทุกปี และลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ

เป้าหมาย “3 เพิ่ม 3 ลด” จะดำเนินการผ่านนโยบาย 3S คือ 1) Security ความมั่นคง (ทางอาหาร) Safety ความปลอดภัย 3) Sustainability ความยั่งยืน เพื่อยกระดับอาหารไทยและเพิ่มมูลค่าของอาหารไทยในตลาดโลก

• ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยอย่างครบวงจร • พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ • ตั้งเป้าเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าด้านอาหารติด 1 ใน 10 ของโลกในปี 2570 ให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนเป็นครัวของโลกอย่างแท้จริง

คณะอนุกรรมการฯ ด้านอาหาร พร้อมผลักดันโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย, โครงการร้านอาหารเชฟชุมชน 100 ร้าน, โครงการ Functional food,โครงการ OFOS และโครงการ Medical food

ซึ่งตั้งใจทำให้การเกษตรไทยเป็นระบบ GAPP (Good Agriculture Pharmaceutical Practice) ซึ่งจะใช้ผลผลิตในระดับที่สามารถทำเป็นยาได้ภายในปี 2025 เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นเสน่ห์ดึงดูดเม็ดเงินและมัดใจคนทั้งโลก เพิ่มรายได้ของคนไทย และพาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศรายได้สูง

Tags: food