“สัปเหร่อ…พวกเราเป็นทีมคนไทย และ รัฐบาลไทยครับ”

“สัปเหร่อ…พวกเราเป็นทีมคนไทย และ รัฐบาลไทยครับ”

คือคำยืนยันของ “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่วันนี้เราพูดคุยกับเขาในฐานะหนึ่งใน “คนทำหนัง” ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการพา “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” โกอินเตอร์สู่สากลด้วยภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” ที่ไปปรากฎต่อสายตาผู้ชมในงาน Thai Night ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโอซากะ 2024 (Osaka Asian Film Festival) แม้ว่ารอบนี้จะไม่ได้ประกวด แต่ก็ได้ความสำคัญจากผู้ชมในเวทีระดับนานาชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

“พี่โต้ง” อธิบายให้เราฟังว่า จริง ๆ แล้ว “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” โดยเฉพาะ “สัปเหร่อ” เป็นหนังที่เป็นได้ทั้ง “หนังตลาด” และ “หนังประกวด” กล่าวคือ การเป็น “หนังตลาด” ที่เข้าถึงคนได้ทุกเพศวัย แตะกับคนดูได้อย่างเข้าใจง่าย ในขณะเดียวกัน “สัปเหร่อ” เอง ก็มีความเป็น “หนังประกวด” เช่นกัน เนื่องจากหนังได้สอดแทรกปรัชญาชีวิต ให้แง่คิด จนกระทั่งมีคุณค่าในตัวมันเอง

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างว่าหนังเรื่องไหนในอดีตที่คล้ายกับสัปเหร่อ “พี่โต้ง” ยกตัวอย่างหนังเรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” ที่มีความเป็นทั้งหนังตลาดทัชใจของผู้ชม ขณะเดียวกันก็มีคุณค่าพอที่จะเป็นหนังประกวดและมีคุณค่าพอที่จะได้รางวัล แต่สิ่ง “สัปเหร่อ” กำลังไปไกลกว่านั้น คือ การโกอินเตอร์สู่เวทีระดับโลก

“เราเห็นสัปเหร่อไปฉายเปิดในงาน Thai Night เราภูมิใจมาก หนังของเราพูดกันตามตรงทุนไม่ได้เยอะ แต่สิ่งที่เราได้มากลับมากกว่า คือ เกียรติประวัติและความภาคภูมิใจ คนทำหนัง รวมถึงคนทำงานสร้างสรรค์ สิ่งที่เราอยากมี คือ เวทีที่ให้เราได้โชว์ อย่างน้อยการได้โชว์ ก็เป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยเฉพาะประสบการณ์ในเวทีระดับนานาชาติแบบนี้” สิริพงศ์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ และเขายังบอกอีกว่า “ต้องเต” หรือ “ธิติ ศรีนวล” ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ มีส่วนสำคัญที่พาหนังเรื่องนี้ไปยืนอยู่บนเวทีที่สำคัญอีกเวทีหนึ่งสำหรับ “คนทำหนัง”

ปัจจุบันหนังเรื่อง “สัปเหร่อ” ถูกนำไปฉายในหลายสิบประเทศทั่วโลก เกือบทุกเทศกาลหนังในระดับนานาชาติต้องหนังเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ปรากฏต่อสายตาผู้ชม ยิ่งไปกว่านั้น หนังเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สัปเหร่อเอฟเฟค” มีบางประเทศกำลังติดต่อให้ “ทีมไทบ้าน” ไปร่วมทำหนัง ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา

“ผมเชื่อว่าการที่หนังของเราเข้าไปฉายใน Thai Night ของ Osaka Asian Film Festival ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐด้วยนะ” สิริพงศ์ กล่าวตอนหนึ่ง

“ในวันนั้น ที่เราถูกแบน (ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2) เราถือว่าเป็นโอกาส หลังจากนั้นคนก็รู้จักเรามากยิ่งขึ้น”

“พี่โต้ง” เล่าที่มาของกระแส “พลุแตก” ของ “ไทยบ้านเดอะซีรีย์” ที่ย้อนไปเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ในปี 2561 “ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2” โดยผู้กำกับ “สุรศักดิ์ ป้องศร” เคยถูกแบบฟ้าผ่าห้ามฉายไม่มีกำหนด ก่อนเข้าฉายเพียง 1 วัน จากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ ประกาศไม่ให้ผ่านเซ็นเซอร์ เนื่องจากมีประเด็นอ่อนไหวทางศาสนา เหตุเพราะในภาพยนตร์มีฉากพระ “เคาะโลงศพแฟนเก่าที่เสียชีวิตและร้องไห้ฟูมฟาย”

“จักรวาลไทบ้านจะไม่จบลงที่สัปเหร่อ” เราได้รับการยืนยันว่า จะมีการสร้างหนังอีก 3 เรื่องในปีนี้ โดยทีม “ไทยบ้านเดอะซีรีส์” และจะมี 1 ใน 3 เรื่อง ที่ไม่ได้อยู่ในจักรวาลไทยบ้านแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่ฉีกออกมาโดยสิ้งเชิง ซึ่งน่าติดตามอย่างยิ่ง

“รัฐสนับสนุน” ที่ชัดและยืดหยุ่นสำหรับความคิดสร้างสรรค์

สิริพงศ์ ชวนคุยประเด็นนี้ขึ้นมา เมื่อเราถามว่า “รัฐควรจะสนับสนุนคนทำหนังมากน้อยเพียงใด และการก่อร่างสร้าง THACCA เพื่อเป็นองค์กรสนับสนุนอุตสาหกรรม Soft Power มีประโยชน์สำหรับคนทำหนังอย่างไร” โดยเขายืนยันว่า “การเริ่มต้นและมีอยู่ มันดีเป็นประโยชน์แน่นอนอยู่แล้ว”

สิริพงศ์ อธิบายต่อไปอีกว่า สิ่งที่คนทำหนังต้องการจริงๆ คือการได้รับการสนับสนุนจากรัฐ​ ที่ต้อง “ชัด” และ “ยืดหยุ่น” สำหรับความคิดสร้างสรรค์ จำกัดประเภทหนังที่จะสนับสนุนให้ “น้อย” แต่ “กว้าง” ไม่ปิดกั้นว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เท่านั้นรัฐถึงจะสนับสนุน ซึ่งเขาเชื่อว่า นี่ต่างหากคือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้อุตสาหกรรมและคนทำหนังสามารถปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ และไปไกลในระดับโลกได้มากยิ่งขึ้น รวมถึง “สิทธิประโยชน์” ด้านต่าง ๆ เช่น “การลดหย่อนภาษีสำหรับคนทำหนัง” หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่จะมาสนับสนุน “คนทำหนัง” ก็ตามที

“ฝึกสกิลตั้งแต่ในห้องเรียน เพื่อให้ได้คนทำหนังที่มีคุณภาพ”

สิริพงศ์ ในหมวกของ “ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” เล่าให้เราฟังว่า ขณะนี้ตามโรงเรียนต่าง ๆ กำลังมีการ “ฝึกสกิล” หรือ “ทักษะ” ของคนรุ่นถัดไป โดยเฉพาะ ฝึกสกิลการใช้ภาษาและการเขียนบทภาพยนตร์ ตั้งแต่วันนี้ สำหรับเยาวรุ่นในห้องเรียนที่โตขึ้นไปแล้วอยากทำหนัง “พี่โต้ง” เชื่อว่า การที่คนหนึ่งคนจะเขียนบทละครหรือบทหนังได้ออกมาดีและดังในแต่ละเรื่อง ล้วนเกิดการฝึกฝนและเรียนรู้ ดังนั้นการมี “ทางเลือก” ตั้งแต่วันนี้ให้ฝึกฝนก็มีความสำคัญ

“เราดูดิ ภาพยนตร์หลายเรื่องของอเมริกา สปีชโคตรดี ฟังแล้วขนลุก เกาหลี หรือจีน หนังหลายเรื่อง ภาษาสวยมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากทักษะทั้งนั้น” สิริพงศ์ ยกตัวอย่างภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่อองที่ประสบความสำเร็จ นอกจากเนื้อเรื่องที่แข็งแรงแล้ว การให้โอกาสในการฝึกทักษะตั้งแต่วันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

Tags: film