รู้หรือไม่? อินเดีย "ส่งออกวัฒนธรรม" ด้วยหนังสือ

รู้หรือไม่? อินเดีย "ส่งออกวัฒนธรรม" ด้วยหนังสือ

ในปี 1947 อินเดียได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย “ชวาหะร์ลาล เนห์รู” คิดว่าการสร้างชาติอินเดียใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอินเดียถือเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

การจะทำให้อินเดียตามชาติตะวันตกทัน “เนห์รู” บอกว่าจำเป็นต้องสร้าง “ความรู้” โดยเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย

แล้วจะสร้างองค์ความรู้ได้ยังไง? ในเมื่อความรู้พวกนี้อยู่ในหนังสือ แล้วคนอินเดียจะเข้าถึงหนังสือได้ยังไง ในเมื่อเงินใช้กินยังไม่มี?

“สถาบันหนังสือ” จึงเป็นแนวคิดแรกที่ เนห์รู จะทำให้คนอินเดียเข้าถึงหนังสือได้ในราคาถูกและทั่วถึง ในปี 1957 อินเดียจึงได้ตั้ง “สถาบันหนังสือแห่งชาติ” หรือ National Book Trust (NBT) ขึ้นมา

โดยสถาบันหนังสือแห่งชาติมีหน้าที่หลัก ๆ อยู่ 8 ข้อ เพื่อทำหน้าที่ผลิตและเผยแพร่หนังสือดี ๆ ที่มีประโยชน์จากทั่วโลกให้คนอินเดียเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม หรือหากต้องใช้เงินซื้อก็ต้องมีราคาที่สมเหตุสมผล

  1. แปลหนังสือดี ๆ กว่า 20 ภาษาครอบคลุมทุกภาษาถิ่นของอินเดียให้ทุกคนได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นตำราการแพทย์ ตำราวิทยาศาสตร์ ตำราคณิตศาสตร์ ตำราดาราศาสตร์ หนังสือเทคโนโลยี หนังสือวรรณกรรม การเมือง และเยาวชน
  2. กระจายหนังสือให้คนเข้าถึงในราคาถูก รวมถึงแจกฟรีตามห้องสมุด ร้านหนังสือ สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีรถไฟ สวนสาธารณะ และสถานที่ต่าง ๆ ที่ง่ายต่อการเข้าถึง
  3. จัดมหกรรมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแอฟริกา-เอเชีย ชื่อ “New Delhi World Book Fair” ขึ้นทุกปี จัดรถตู้เคลื่อนที่แสดงนิทรรศการหนังสือทั่วประเทศให้คนอินเดียที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงหนังสือได้
  4. สร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็ก โดยตั้ง “ศูนย์วรรณกรรมเด็กแห่งชาติ” หรือ The National Centre for Children’s Literature (NCCL) ขึ้นในปี 1993 เพื่อวางแผนและช่วยเหลือการตีพิมพ์หนังสือเด็กทุกประเภท สร้างเครือข่ายชมรมรักการอ่าน ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 35,000 ชมรมทั่วประเทศ
  5. สนับสนุนทุนแก่นักเขียนและสำนักพิมพ์ ให้ผลิตหนังสือดี ๆ โดยเฉพาะตำราความรู้ในสาขาที่ขาดแคลน มีราคาแพง ไม่คุ้มราคาที่สำนักพิมพ์จะผลิตเอง สถาบันฯ ก็จะอุดหนุนงบประมาณให้ โดยสนับสนุนงบจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหนังสือมากถึง 70%
  6. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดอบรมระยะสั้น จัดอบรมสัมมนา สร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น นักเขียน บรรณาธิการ และนักแปล
  7. แปลหนังสืออินเดียเป็นภาษาต่างประเทศส่งออกสู่สายตานักอ่านทั่วโลก ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ภาษา โดยให้ทุนช่วยเหลือการแปลหนังสือที่ได้รับคัดเลือกในฐานะ “สื่อทางวัฒนธรรมแห่งชาติ”
  8. พาหนังสืออินเดียไปอวดสายตาคนทั้งโลก โดยเป็นแม่งานพานักเขียน สำนักพิมพ์ และหนังสืออินเดียไปร่วมมหกรรมหนังสือนานาชาติในประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แฟรงก์เฟิร์ต โบโลญญา โซล ปักกิ่ง โคลัมโบ โตเกียว ไทเป สิงคโปร์ ลอนดอน วอร์ซอ มอสโก มะนิลา รวมถึงกรุงเทพฯ

ซึ่งความสำเร็จของสถาบันหนังสือแห่งชาติอินเดียนี่เองทำให้

  • อัตราการรู้หนังสือของคนอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 18% เป็น 80% ในปัจจุบัน
  • กว่า 90% ของหนังสือที่วางขายเป็น “ตำราเรียน” โดยเฉพาะตำราเรียนแพง ๆ จากต่างประเทศที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอินเดียมีราคาขายที่ถูกกว่าเท่าตัว นี่เป็นเหตุผลที่คนอินเดียเข้าถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าชาติอื่น จนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี
  • มีสำนักพิมพ์เกิดขึ้นมากถึง 16,000 แห่ง ผลิตหนังสือใหม่ ๆ ได้มากถึง 80,000 ฉบับต่อปี กลายเป็นประเทศที่มีหนังสือที่หลากหลาย ผู้คนเข้าถึงหนังสือได้ทุกพื้นที่
  • มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมหนังสืออินเดียสูงถึง 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015
  • ตลาดหนังสืออินเดียกลายเป็นตลาดหนังสือภาษาอังกฤษที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

นี่คือข้อมูลคร่าว ๆ ของสถาบันหนังสือแห่งชาติอินเดีย เราคงต้องมาดูว่าสถาบันหนังสือแห่งชาติของไทยจะออกแบบมาลักษณะใด จะทำหน้าที่และมีเป้าหมายที่เหมือนหรือต่างจากสถาบันหนังสืออินเดียหรือไม่ และเราจะถอดเอาบทเรียนความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือของอินเดียมาใช้ได้อย่างไร …เรื่องนี้ พวกเราทุกคนคงต้องตามดูกันต่อเพื่อให้การก่อตั้ง “สถาบันหนังสือแห่งชาติ” สำเร็จได้จริงๆ สักที

นี่คือการสร้างชาติด้วยหนังสือ นี่คือการส่งออกวัฒนธรรมด้วยหนังสือ

Tags: book, knowledge