"ปฏิญญา THACCA" - เจตนารมณ์และบทถัดไปของซอฟต์พาวเวอร์ไทย

"ปฏิญญา THACCA" - เจตนารมณ์และบทถัดไปของซอฟต์พาวเวอร์ไทย

ตลอดระยะเวลากว่า 9 เดือน 17 วัน คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้ง 11 ด้าน และหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ได้ตั้งใจทำงานกันอย่างทุ่มเทและจริงจัง เพื่อทำให้เป้าหมายที่วางไว้สำเร็จลุล่วง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้สรุปเนื้อหาที่เป็นความรู้สึกร่วมกันของทุกคนออกมาเป็น “ปฏิญญาทักก้า” หรือ “Declaration of THACCA” ได้ 5 ประการ และได้ประกาศบนเวทีงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ไว้ดังนี้

#ประการที่หนึ่ง ในยามที่ประเทศไทยลำบาก เศรษฐกิจเปราะบาง ประชาชนต้องการความหวัง ซอฟต์​พาวเวอร์คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดยุทธศาสตร์หนึ่งของรัฐบาล ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่การมาหาคำนิยาม ไม่ใช่คำเท่ๆ ที่พูดกันไปปากต่อปาก ไม่ใช่เป้าหมายว่าเราทำซอฟต์พาวเวอร์เพื่อซอฟต์พาวเวอร์ แต่เราทำซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง เราอยากจะเปลี่ยนรายได้ของประเทศให้สามารถที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

#ประการที่สอง เรารู้ดีว่ายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่จะทำต่อไปนี้ จะต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุกคนต้องได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ จะต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การฝึกฝนทักษะฝีมือระดับสูงหรือความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะระดับสูงครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ มีคนถึง 20 ล้านคนที่จะได้รับประโยชน์นี้

#ประการที่สาม เรารู้ดีว่าการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ครั้งนี้ เราจะต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการครั้งที่ใหญ่ที่สุด บางส่วนจะต้องรวมศูนย์และบางส่วนจะต้องกระจายอำนาจ ในด้านที่รวมศูนย์ เราจะต้องมีการรวมศูนย์การกำหนดยุทธศาสตร์ จะต้องมีการรวมศูนย์ในการกำหนดงบประมาณเพื่อทำตามแผนยุทธศาสตร์นั้น เราจะมีการตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative Culture Agency (THACCA) โดยจะออกเป็นพระราชบัญญัติให้เสร็จสิ้นในกลางปี 2568 ในด้านที่กระจายอำนาจ เรารู้ดีว่าเราจะต้องกระจายให้จังหวัดและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่ประสานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ เราจะให้มีคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ระดับจังหวัดทุกจังหวัด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีหน่วยงานที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่าง TCDC ทุกจังหวัดเช่นเดียวกัน

#ประการที่สี่ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์นี้จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐจะทำหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวก ปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาระบบนิเวศ จัดตั้งกองทุน จัดตั้ง One Stop Service เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เราจะมีการจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมของซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆ เช่น สภาภาพยนตร์ สภาดนตรี สภาศิลปะ สถาบันหนังสือแห่งชาติ สถาบันอาหาร สถาบันแฟชั่น เป็นต้น

#ประการที่ห้า เราจะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่จะมุ่งเน้นในการทำให้เสน่ห์ของคนไทยไปสู่ตลาดระดับโลกผ่านการทูตเชิงวัฒนธรรม ขับเคลื่อนโดยท่านเอกอัครราชทูต ท่านทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน เราก็จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อที่จะประสานความสามารถในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในเวทีโลกด้วยกัน

การจัดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ครั้งนี้ ถือเป็นงานระดับนานาชาติที่ได้รับคำชมจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก เราจะจัดงานซอฟต์พาวเวอร์ต่อเนื่องกันไปทุกปี

เราหวังว่าแสงแห่งความหวังที่ได้เริ่มต้นในสามวันนี้ จะนำพาทำให้เราได้นำแสงสว่างนี้ไปถึงชีวิตของคนไทยทุกคนที่ต้องการความหวังในทุกถิ่นทั่วไทย เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับประเทศไทย เรารู้ดีว่าเรากำลังทำเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง เรากำลังทำเรื่องที่อาจจะไม่เคยมีใครทำมาก่อนเลยในประเทศนี้

เราคิดว่าเราจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนไม่ใช่แค่พวกเราทั้ง 12 คนบนนี้ ท่านประธานพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติแล้วก็หลายท่านที่เป็นผู้มีเกียรติอยู่ในที่นี้ แต่เราจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนทั้งสังคม ทุกอย่างที่เริ่มต้นใหม่อาจจะมีข้อบกพร่อง อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็พร้อมจะแก้ไขปรับปรุงต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะเรารู้ว่าเรากำลังทำงานที่ยากที่สุด เรากำลังทำงานที่ทะเยอทะยานที่สุด แต่ว่าทุกๆ ครั้งที่งานที่มันเป็นยาก งานที่ทะเยอทะยานนั้น ทุกๆ ครั้งมันก็จะต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดเริ่มต้นก็คือวันนี้