ดังนั้นจะมาเขียนเหมือนกันไม่ได้! ยกระดับการเขียนกับ “Creative Writing for OFOS”

ดังนั้นจะมาเขียนเหมือนกันไม่ได้! ยกระดับการเขียนกับ “Creative Writing for OFOS”

ผ่านไปแล้ว 2 ครั้งกับคอร์สอบรมการเขียนแบบสร้างสรรค์ “Creative Writing 2024 for OFOS” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) เพื่ออัพสกิลการเขียนให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจในการต่อยอดสร้างรายได้จากงานเขียน และเปิดประตูสู่แนวทางใหม่ๆ ในการทำงานเขียนอย่างสร้างสรรค์

โดยคอร์สนี้จัดทั้งหมด 3 วัน คือ วันที่ 1, 8, และ 15 กันยายน 2567 ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซนทรัลเวิร์ล

งานนี้นอกจากจะเป็นการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนแล้ว ในคอร์สยังมีการแนะนำการทำหนังสือเล่ม สำหรับผู้ที่ในชีวิตนี้อยากมีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่ม ซึ่งดำเนินการสอนโดยนักเขียนมืออาชีพและบรรณาธิการผู้คร่ำหวอดในวงการ ครอบคลุมเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับงานเขียนไว้อย่างครบถ้วน

โครงการดีๆ แบบนี้ THACCA เองก็ไม่พลาดที่จะส่งคนไปสมัครเพื่อเรียนรู้การเขียนกับเขาด้วย คอร์สนี้เป็นอย่างไร น่าสนใจแค่ไหน และได้อะไรบ้าง เรามีรีวิวและภาพบรรยากาศของการอบรมมาฝากทุกคนกัน

วันที่ 1 กันยายน 2567

🖋️ คลาสอบรม “เขียนให้ดี เขียนให้ถูก” โดย คุณวิภว์ บูรพาเดชะ (นักเขียน นักแต่งเพลง และบรรณาธิการบริหาร happening)

“…ทุกคนมีเรื่องเล่า…”

หลายคนเวลาเริ่มเขียนอะไรสักอย่างอาจมีปัญหาคล้ายๆ กันอยู่ คือ “เขียนอะไรดี” ซึ่งคลาสนี้คุณวิภว์ได้พาทุกคนท่องสู่โลกของการเขียน 101 และชี้ชวนให้เห็นว่าทุกคนสามารถเขียนได้เพราะทุกคนมีเรื่องเล่า เพียงแค่ต้องเริ่มลงมือเขียน รวมไปถึง “เขียนให้ถูก” ซึ่งสำคัญมากๆ กับงานเขียนทุกประเภท “เขียนให้ดี” การเขียนใครๆ ก็เขียนได้ แต่อย่างไรล่ะถึงจะเรียกว่าดี คลาสนี้จึงเต็มไปด้วยเคล็ดลับมากมายที่จะทำให้งานเขียนของคุณโดดเด่นไม่เหมือนใคร

🖋️ คลาสอบรม “การเขียนบทสัมภาษณ์แบบมืออาชีพ” โดย คุณจักรพันธุ์ ขวัญมงคล (นักเขียน นักสัมภาษณ์ และ Head of Publishing Business จาก BrandThink)

“…บทสัมภาษณ์ที่ดีต้องไม่ใช่การสัมภาษณ์ แต่เป็นการพูดคุย…"

การสัมภาษณ์เป็นกระบวนการที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมันเรียกร้องมิตรภาพจากมนุษย์สองคนอย่างรวดเร็วแต่ลึกซึ้ง คลาสนี้จึงเต็มไปด้วยเทคนิคที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ในการสัมภาษณ์ ลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนานของ คุณจักรพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มต้น การเตรียมตัว การตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์ และวิธีการสร้างบรรยากาศในการสัมภาษณ์

ซึ่งถ่ายทอดออกมาใน 5 หัวข้อ 1) การสัมภาษณ์คืออะไร 2) ทำไมต้องสัมภาษณ์ 3) การสัมภาษณ์ที่ดี 4) จากการสัมภาษณ์สู่งานเขียน 5) กฎ 3 ข้อสำหรับนักสัมภาษณ์ และประสบการณ์จริงที่หาไม่ได้ในตำรา ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายในการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ หรือการทำงานภายใต้แรงกดดันในวงการสื่อ

คลาสนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการพัฒนาตัวเองในสายงานการสื่อสารที่เน้นการเล่าเรื่องและบทสัมภาษณ์ ซึ่งการสัมภาษณ์ยังเป็นการเปิดประตูสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ ในชีวิตได้อีกด้วย ในที่นี้ interview makes everything!

วันที่ 8 กันยายน 2567

🖋️ คลาสอบรม “วรรณกรรรมทำอย่างไร” โดย คุณกิตติศักดิ์ คงคา (นักเขียนและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ 13357)

“…ทำงานเพื่อให้เรามีความสุขในการได้เล่า และให้คนอื่นมีความสุขในการได้อ่าน…"

การเขียนวรรณกรรมสักเรื่องไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่เราต้องเข้าใจทฤษฎีพื้นฐานของวรรณกรรมเสียก่อน คลาสนี้จึงเต็มไปด้วยทฤษฎีและหลักการพื้นฐานของในการเขียนวรรณกรรมอย่างครบถ้วน เจาะลึกตั้งแต่การทำความเข้าใจว่าคนอ่านอยากอ่านอะไร ประเภทของวรรณกรรม โครงสร้างของการเขียนวรรณกรรม การพัฒนาพล็อต ไปจนถึงการสร้างตัวละครให้มีชีวิต คลาสนี้จึงเหมาะกับผู้ที่สนใจและอยากเริ่มต้นเขียนวรรณกรรม ที่จะทำให้เรื่องราวที่คุณเขียนไม่ใช่แค่น่าสนใจ แต่โดนใจคนอ่านอย่างจังๆ

🖋️ คลาสอบรม “วิธีทำหนังสือกับสำนักพิมพ์” โดย คุณปฏิกาล ภาคกาย (นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Salmon Books)

“…การเขียนต้นฉบับอาจไม่ยากเท่าการแก้ต้นฉบับ…”

สำหรับคนทำงานเขียน ย่อมใฝ่ฝันว่าอยากจะมีหนังสือของตัวเองสักเล่ม ในคลาสนี้คุณปฏิกาลเล่าให้ฟังถึงวิธีการทำงานของกองบรรณาธิการในแบบฉบับของ Salmon Books จนออกมาเป็นหนังสือคุณภาพอย่างที่เราเห็น การคัดเลือกต้นฉบับ และขั้นตอนการทำงานร่วมกันระหว่างนักเขียนและสำนักพิมพ์ รวมถึงทักษะสำคัญอย่างการเลือกและไม่เลือกที่จะเล่า เพื่อให้คนทำงานเขียนได้เข้าใจกระบวนการกว่าจะมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม คลาสนี้จึงเหมาะสำหรับที่ต้องการทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ในการเดินตามความฝันที่จะมีหนังสือเป็นของตัวเอง

🖋️ คลาสอบรม “วิธีทำหนังสือด้วยตัวเอง” โดย คุณวิมลพร วิสิทธิ์ (ผู้ก่อตั้ง Spacebar Zine และ Spacebar Design Studio)

“…ยิ่งเห็นเยอะ ความสร้างสรรค์ยิ่งเกิด…"

บางครั้งการส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์พิจารณาตีพิมพ์ อาจหมายถึงการมีใครสักคนมาตัดเรื่องที่เราอยากเล่าออกไป การทำหนังสือด้วยตัวเองจึงตอบโจทย์ในแง่นี้ ในคลาสนี้คุณวิมลพรมาแนะนำให้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “zine (ซีน)” หรือสิ่งพิมพ์อิสระที่ทำเอง และแบ่งปันประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำงานในวงการออกแบบและการไปออกบูธหนังสือทำเองในต่างประเทศ

ตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ ขั้นตอนการทำหนังสือด้วยตัวเอง ไปจนถึงกระบวนการผลิตและการจัดพิมพ์ที่ไม่ต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์ใหญ่ เป็นคลาสที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับใครที่มีความใฝ่ฝันในการทำหนังสือด้วยตนเอง

สำหรับ Creative Writing 2024 for OFOS ยังเหลือการอบรมอีก 1 ครั้ง ในวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยเป็นคลาส “คลินิกนักเขียน” ให้ผู้เข้าร่วมอบรมมาพูดคุยกับวิทยากรเพื่อพัฒนาปรับปรุงทักษะการเขียนของตัวเอง บอกได้เลยว่าเป็นคอร์สที่ดีมากๆ เหมาะกับทุกคนไม่ว่าจะมีพื้นฐานการเขียนอยู่แล้ว หรือไม่มีเลยก็ตาม

โครงการดีๆ แบบนี้ยังมีอยู่อีกเรื่อยๆ ใครที่สนใจอยากพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อย่าพลาดที่จะติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะทุกคอร์สมีที่นั่งจำกัด THACCA มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพสร้างสรรค์ของคนไทยผ่านนโยบาย OFOS เพื่อยกระดับวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทย สู่การเติบโตของวงการสร้างสรรค์ในประเทศไทยอย่างแท้จริง!

Tags: book