คำถามที่พบบ่อย (Q&A)
 

คำถามที่พบบ่อย (Q&A)

ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร?

ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่นิยามขึ้นมาโดย โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) นักวิชาการด้านการต่างประเทศ โดยให้ความหมายว่า

“พลังที่โน้มนำให้ผู้อื่นหรือประเทศอื่นทำในสิ่งที่เราต้องการ โดยไม่ใช้กำลังบังคับ แต่ใช้ความนุ่มนวลผ่านค่านิยมและวัฒนธรรม”

เช่น สหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่ค่านิยมแบบอเมริกันผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือแฟชั่นกางเกงยีนส์ เพื่อให้คนซึมซับค่านิยมอเมริกัน อยากมีและอยากเป็นแบบอเมริกัน

เมื่อเวลาผ่านไป Soft Power ซึ่งเป็นทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่หวังผลทางการเมือง ได้ถูกนำมาปรับใช้เพื่อหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น เกาหลีใต้ใช้อุตสาหกรรมบันเทิงในการเผยแพร่ภาพลักษณ์ “เกาหลีใต้ใหม่” เพื่อโน้มนำให้คนจากทั่วโลกให้อยากมี อยากกิน อยากเป็นแบบเกาหลีใต้ ทำให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเกาหลีใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

แล้วรัฐบาลจะทำอะไร?

ประเทศไทยมี “ศักยภาพ” มากมายที่สามารถนำไปใช้สร้างพลังโน้มนำ หรือซอฟต์พาวเวอร์ ให้ผู้คนทั่วโลกอยากมี อยากได้ อยากเป็นแบบไทย ไม่ว่าจะศักยภาพจากทุนทางวัฒนธรรม หรือความคิดสร้างสรรค์ เช่น อาหารไทย ภาพยนตร์ไทย มวยไทย เกมไทย แฟชั่นไทย และอื่น ๆ ซึ่งศักยภาพเหล่านี้แฝงอยู่ใน “ฝีมือ” ของคนไทยทุกคน

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเห็นโอกาสที่ “สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อไทยทุกคน” จึงเสนอนโยบายสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทย ด้วยการเข้าไปสนับสนุนและพัฒนาทุกศักยภาพของคนไทยทุกคนผ่านนโยบายต่าง ๆ อย่าง

  • “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ OFOS (One Family One Soft Power) เพื่อ Upskill-Reskill ทักษะของคนไทยทุกครอบครัวกว่า 20 ล้านคน
  • จัดตั้ง THACCA - Thailand Creative Culture Agency องค์กรที่จะมาทำหน้าที่อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ดนตรี ภาพยนตร์ ออกแบบ และอื่น ๆ ให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
  • “นโยบายการทูตวัฒนธรรมเชิงรุก” เพื่อสนับสนุนการส่งออกศักยภาพของคนไทย ให้เป็นที่ยอมรับและสร้างพลังโน้มนำแก่คนทั่วโลก

เมื่อศักยภาพเหล่านี้กลายเป็นพลังโน้มนำให้คนทั่วโลก อยากมี อยากได้ อยากเป็นแบบไทย จะทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าและบริการได้หลากหลายมากขึ้น กระจายรายได้ไปสู่ทุกครอบครัว สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากศักยภาพฝีมือของตนเอง เพื่อให้คนไทยหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ “ประเทศรายได้สูง” ในอนาคต

ทำไมต้องเป็น Thailand Creative ‘Culture’ Agency ไม่ใช่ Thailand Creative ‘Content’ Agency?

จากเดิม THACCA นั้นย่อมาจาก Thailand Creative Content Agency เหมือน KOCCA (Korea Creative Content Agency) ของเกาหลีใต้ หรือ TAICCA (Taiwan Creative Content Agency) ของไต้หวัน

แต่ด้วยภารกิจของ THACCA มีขอบเขตที่กว้างกว่า KOCCA หรือ TAICCA ที่เน้นสนับสนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเนื้อหาเป็นหลัก เช่น ภาพยนตร์ เกม หนังสือ แอนิเมชัน ดนตรี และอื่นๆ แต่ภารกิจ THACCA สนับสนุนครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมเนื้อหา แต่ตั้งอยู่บนฐานของ “วัฒนธรรมสร้างสรรค์” ตั้งแต่วัฒนธรรมดั้งเดิมไปจนถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยมากกว่า

THACCA จึงเปลี่ยนชื่อเต็มใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานของ “วัฒนธรรมสร้างสรรค์” เป็น “Thailand Creative Culture Agency” นั่นเอง

ทำไม THACCA ต้องสนับสนุนมากถึง 11 อุตสาหกรรม?

อาจจะมีหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไม THACCA ถึงต้องสนับสนุนมากถึง 11 อุตสาหกรรม? ทำไม THACCA “ไม่เลือกหยิบ” บางอุตสาหกรรมที่เด่นๆ มาสนับสนุน?

คำตอบที่ง่ายที่สุดสำหรับพวกเราคือ “เราจะไม่ทำให้ความฝันไหนของใครเป็นเพียงแค่ตัวเลือกของรัฐ”

ไม่ว่าคุณฝันอยากเป็นอะไร เป็นนักร้อง นักแสดง นักออกแบบ ศิลปิน นักกีฬา มัคคุเทศก์ หรือเชฟ หน้าที่ของรัฐ คือ “การสนับสนุนทุกศักยภาพของทุก ๆ คน” เพื่อโอบอุ้มและคอยอำนวยความสะดวกให้เส้นทางแห่งความฝันของทุกคนให้เป็นจริงได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ความฝันใด หรือของใครต้องหล่นหายไปจากสายตาของรัฐ

ที่สำคัญรัฐจะต้องไม่เป็น “ผู้เลือก” ว่าจะสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนเพียงความฝันใดความฝันหนึ่งเท่านั้น เพราะเราเชื่อว่าทุกความฝันของคนไทยต่างมีค่าและมีความสำคัญต่ออนาคตประเทศ

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม THACCA ถึงต้องสนับสนุนถึง 11 อุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าครอบคลุมมากที่สุด

โดย 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์นั้น ได้แก่

  1. ด้านหนังสือ
  2. ด้านเฟสติวัล (เทศกาล)
  3. ด้านอาหาร
  4. ด้านการท่องเที่ยว
  5. ด้านดนตรี
  6. ด้านเกม
  7. ด้านกีฬา
  8. ด้านศิลปะ (รวมถึงศิลปะการแสดง)
  9. ด้านการออกแบบ
  10. ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์
  11. ด้านแฟชั่น

การที่ THACCA เข้าไปสนับสนุนทั้ง 11 สาขาอุตสาหกรรม ก็เพื่อให้แต่ละอุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางอาชีพให้ทุกความฝัน ทุกศักยภาพของคนไทยทุกคนให้เป็นจริงได้นั่นเอง

รู้ไหม OFOS คืออะไร?

  1. OFOS ย่อมาจากคำว่า “One Family One Soft Power”
  2. นี่เป็นโครงการ “พัฒนาคน” ผ่านการ Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
  3. เป็นการเฟ้นหาศักยภาพคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 ศักยภาพ
  4. เป็นการสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ภายใน 4 ปี
  5. สร้างรายได้อย่างน้อยครอบครัวละ 200,000 บาท/ปี
  6. นี่คือโครงการที่จะพาคนไทยให้หลุดพ้นจาก “กับดักความยากจน”

𝙊𝙁𝙊𝙎 กับ 𝙏𝙃𝘼𝘾𝘾𝘼 ทำงานร่วมกันอย่างไร?

เชื่อว่าหลายคนยังคงงง ๆ กันอยู่ว่า OFOS คืออะไร THACCA คืออะไร แล้ว OFOS กับ THACCA เนี่ย มาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ?

ไม่ต้องห่วง วันนี้เราจะมาสอนทริคในการจำง่าย ๆ ว่า

“OFOS สร้างคน THACCA สร้างงาน”

📌OFOS หรือ One Family One Soft Power เป็น “นโยบายสร้างคน” ที่ต้องการจะ Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศ! โดยจะเปิดให้ “ทุกครอบครัว” สามารถมา Upskill-Reskill ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะสร้างสรรค์” เพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ของตัวเองให้สูงขึ้นได้

การฝึกอบรมจะแบ่งเป็นระดับตามขั้นบันได จากระดับพื้นฐานจนถึงระดับมืออาชีพ มีใบ Certified รับรองศักยภาพสร้างสรรค์ให้ทุกคน โดยศูนย์ฯ นี้จะกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงได้ตั้งแต่ระดับตำบล → จังหวัด → ประเทศ และหากตั้งใจก็มีทุนให้ไปเรียนในต่างประเทศต่อไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ “ฟรี!”🔥

OFOS จึงเป็นนโยบายที่มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยครั้งใหญ่ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เพื่อ “สร้างคน” ที่มีแรงงานทักษะสร้างสรรค์สูง “20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว” ทั่วประเทศ ให้ทุกครอบครัว “สร้างรายได้” ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท/ปี

📌THACCA หรือ Thailand Creative Culture Agency เป็น “องค์กรสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” เพราะเมื่อเราสร้างคน 20 ล้านคนแล้ว เราก็จำเป็นต้อง “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง” เพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้

THACCA ถูกออกแบบมาเพื่อ “สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ” โดย THACCA จะเป็นแม่งานในการรับผิดชอบ มีอำนาจเบ็ดเสร็จและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และอื่น ๆ เพื่อทำงานร่วมกันในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างมียุทธศาสตร์

THACCA จะสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 11 ด้าน คือ (1) อาหาร (2) ดนตรี (3) ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ (4) เกม (5) หนังสือ (6) ศิลปะ (7) การออกแบบ (😎 แฟชั่น (9) กีฬา (10) การท่องเที่ยว และ (11) เฟสติวัล

THACCA จะทำหน้าที่รื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปลดปล่อยเสรีภาพทางความคิด สนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุนรวม ‘Soft Power’ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และ THACCA ยังออกแบบให้มีตัวแทนจากแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายอีกด้วย

📌ย้ำกันอีกครั้งชัด ๆ “OFOS เป็นนโยบาย” → สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ผ่านการ Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศ ส่วน “THACCA เป็นองค์กร” → สร้างงาน ผ่านการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 11 ด้านให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ทั้ง OFOS และ THACCA จึงทำงานควบคู่กันไป โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เพื่อให้คนไทยหลุดพ้นจากความยากจน และทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็น “ประเทศรายได้สูง” ในที่สุด