**ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คืออะไร**


คำว่า “Soft Power” ซึ่งในภาษาไทยนิยมใช้ทับศัพท์เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” นั้น

ถูกหยิบขึ้นมากล่าวถึงอย่างชัดเจนโดย โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) นักวิชาการด้านการต่างประเทศ ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงสงครามเย็น


ซอฟต์พาวเวอร์ หมายถึง “พลังที่โน้มนำให้ผู้อื่น (ประเทศอื่น) ทำในสิ่งที่เราต้องการด้วยความสมัครใจ ปราศจากการใช้กำลังบังคับ”

โดยใช้เครื่องมือที่นุ่มนวลผ่านการเผยแพร่ค่านิยมทางการเมืองและวัฒนธรรม แทนการใช้เครื่องมือที่รุนแรง เช่น กองทัพ หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งแนวคิดนี้มีส่วนเสริมสร้างให้สหรัฐอเมริกา ก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจโลกทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกหลงใหล อยากมี อยากได้ อยากเป็นแบบอเมริกัน เป็นต้น


เมื่อเวลาผ่านไป ซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งเป็นแนวคิดที่หวังผลทางการเมืองและความมั่นคง ถูกประยุกต์ใช้เพื่อหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น คลื่นความนิยมเกาหลีใต้ ที่ใช้อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นตัวนำในการเผยแพร่ภาพลักษณ์ “เกาหลีใต้ใหม่” โน้มนำให้ผู้คนจากทั่วโลก อยากมี อยากกิน อยากเป็น แบบเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้อัตราการส่งออกสินค้าและบริการ รวมไปถึงการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดด


**ซอฟต์พาวเวอร์ในแบบฉบับของไทย**


คำที่ดูใกล้เคียงมากที่สุดในแง่ความหมายที่ทำให้เกิดพลังโน้มนำ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์นั้น คือ

 

“เสน่ห์” (Attraction) หรือแรงดึงดูดที่ทำให้ผู้คนยอมทำในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำโดยสมัครใจ


สำหรับประเทศไทย เรามี “เสน่ห์” มากมายที่ชวนให้คนทั่วโลกได้หลงใหล ไม่ว่าจะเป็น

“ทุนทางวัฒนธรรม” เช่น เทศกาลประเพณี อาหารไทย มวยไทย นวดไทย สถานที่ท่องเที่ยว

 

“ศักยภาพสร้างสรรค์” ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ แฟชั่น เกม การออกแบบ ศิลปะ และอื่น ๆ


สิ่งเหล่านี้ คือ เสน่ห์ ที่พร้อมจะดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกชื่นชม ชื่นชอบ อยากกิน อยากมี อยากซื้อ อยากเที่ยว อยากแต่งตัว อยากลองเป็น “แบบไทย”

เสน่ห์เหล่านี้ ล้วนแฝงฝังอยู่ใน “ฝีมือ” ของคนไทยทุกคน ดังนั้น การพัฒนาฝีมือของคนไทย จึงถือเป็นการบริหารและยกระดับเสน่ห์ หรือศักยภาพของคนไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะ “ฝีมือคนไทย” คือ “หัวใจหลักของซอฟต์พาวเวอร์ไทย”


**ซอฟต์พาวเวอร์กับเป้าหมายทางเศรษฐกิจอันทะเยอทะยาน**


รัฐบาลเล็งเห็นศักยภาพของ “ฝีมือ” คนไทยทุกคนที่ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ในฐานะเครื่องมือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงได้รวบรวมความเห็นจากผู้คนทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และร่วมกันกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน

จนเกิดเป็น “นโยบายพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย”


รัฐบาลได้กำหนด วิสัยทัศน์ของนโยบายพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ไว้ว่า

*“ซอฟต์พาวเวอร์ จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ใหม่ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูง”*

##


โดยกำหนด เป้าหมายของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไว้ 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 : คนไทย “หายจน” ทุกครัวเรือนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อปี

ประการที่ 2 : พัฒนาแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

ประการที่ 3 : สร้างเม็ดเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มูลค่า 4 ล้านล้านบาทต่อปี


“10 นาที” รู้เรื่อง รู้แนวทาง รู้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี



**3 นโยบายที่เชื่อมโยงสอดประสานทั้งระบบ**


ด้วยวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ทะเยอทะยานของรัฐบาล นำไปสู่การออกแบบนโยบายพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระบบให้สอดประสานเชื่อมโยงกันใน 3 ส่วน คือ "สร้างคน สร้างงาน สร้างตลาด"


**1. สร้างคน**


**หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS)**

ต้นน้ำของซอฟต์พาวเวอร์ คือ ฝีมือคน รัฐบาลจึงสร้างระบบแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงการฝึกอบรม เพื่อยกระดับทักษะเดิม (Re-skill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Up-skill) ผ่านโครงการ

“หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์” หรือ One Family One Soft Power (OFOS)

 

โครงการ OFOS จะเปิดให้ทุกคน ทุกครอบครัว สามารถเข้าฝึกอบรมทักษะสร้างสรรค์โดย “ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา และไม่เสียค่าใช้จ่าย” มีทั้งการเรียนในระบบออนไลน์ (Online) และออนไซต์ (On-site) รวมไปถึงการทำค่ายอบรม การจัด Workshop และการเสวนาต่าง ๆ มากมาย โดยรัฐบาลและภาคเอกชนได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรที่ใช้ได้จริง เรียนจบแล้วสามารถทำงานได้ทันที ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและเติมเต็มช่องว่างของตลาดแรงงาน

โครงการ OFOS จะทำให้เกิดการสร้างแรงงานทักษะสูงด้านซอฟต์พาวเวอร์ กว่า 20 ล้านคน  ไม่ว่าจะเป็น เชฟอาหารไทย นักมวยไทย ผู้กำกับภาพยนตร์ นักดนตรี นักแสดง สถาปนิก นักออกแบบ ช่างศิลปะ และอื่น ๆ เพื่อเสริมแกร่ง “ฝีมือคนไทย” ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น


**2. สร้างงาน**


**สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative Culture Agency (THACCA)**

กลางน้ำ คือ การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสร้างสรรค์นั้น อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือได้รับการสนับสนุนที่กระจัดกระจายไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไม่มีความต่อเนื่องและมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์” หรือ Thailand Creative Culture Agency (THACCA) เพื่อเป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่รวมศูนย์การสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยงฐานข้อมูล การให้ทุนสนับสนุนหรือร่วมทุน การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ การอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตในฐานะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) และอื่น ๆ

ภายใต้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบครบวงจรของ THACCA จะทำให้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทยสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง นำไปสู่การสร้างงานกว่า 20 ล้านตำแหน่ง และเกิดระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง พร้อมเปิดรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ในอนาคต


**3. สร้างตลาด**


**การทูตทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Cultural Diplomacy)**

เมื่อเรามีแรงงานทักษะสูงพร้อมกว่า 20 ล้านคนแล้ว มีอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่แข็งแกร่งแล้ว ในลำดับสุดท้ายหรือปลายน้ำ คือ ต้องทำให้ “โลกทั้งใบเป็นตลาดของเรา” ผ่านการใช้กลไกการทูตทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Cultural Diplomacy) เพื่อพาเอกชนไทยไปเปิดตลาดด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกประเทศทั่วโลก

สถานทูตไทยและผู้แทนประเทศไทยในต่างประเทศ จะร่วมกันวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคและสำรวจตลาดในแต่ละประเทศ รวมถึงเจรจาหาช่องทางเปิดตลาดการค้าใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เผยแพร่ศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทย และเสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ


ภายใต้การสอดประสานของทั้ง 3 ส่วน - “สร้างคน สร้างงาน สร้างตลาด” ผ่าน 3 นโยบาย - “OFOS THACCA และการทูตทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์” จะทำให้การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ถูกขับเคลื่อนขนานใหญ่ทั้งองคาพยพ โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้นำและมีภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกและสนับสนุน ซอฟต์พาวเวอร์จะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกันกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผลประโยชน์จากการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์จะตกถึงมือประชาชนทุกคน ทุกครอบครัว เพื่อทำให้คนไทย “หายจน” อย่างถาวร และนำพาประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เข้าสู่ประเทศรายได้สูงในที่สุด




**THACCA คืออะไร**


สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative Culture Agency (THACCA) คือ หน่วยงานกลางเบ็ดเสร็จ ที่บูรณาการการสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ภาครัฐให้มียุทธศาสตร์และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน


**หลักการและเหตุผลในการจัดตั้ง THACCA**


(1) เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ

(2) ทำหน้าที่เชื่อมโยงพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและทุนมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด

(3) ยกระดับอุตสาหกรรมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

(4) ส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ


**ภารกิจของ THACCA**


1.  จัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

2.  สนับสนุนทางการเงิน ผ่านเงินอุดหนุน เงินกู้ยืม เงินลงทุนหรือร่วมทุน จากกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

3.  พัฒนาทักษะแรงงาน ในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ผ่านโครงการ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์” (OFOS)

4.  คุ้มครองสิทธิและสวัสดิการแรงงาน ในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้เป็นธรรม

5.  จัดทำฐานข้อมูล ด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

6.  กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี และส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าให้เสรีและเป็นธรรม

7.  ให้คำปรึกษาและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

8.  รับรองมาตรฐานคุณภาพ และส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่น

9.  สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์และบริการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

10. ลดขั้นตอนทางกฎหมาย และอำนวยความสะดวกการขอใบอนุญาต ผ่านศูนย์ One-Stop Service


**สาขาอุตสาหกรรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก THACCA**


















**\*\*หมายเหตุ** : ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. … ยังอยู่ในกระบวนการจัดทำและพิจารณาทางกฎหมาย จึงทำให้ สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ยังไม่มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ใช้โครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ในช่วงระยะเริ่มแรก\*\*

กดอ่าน [ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. ...](<>)[](<>)[](<>)